นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผย 10 อันดับธุรกิจดาวรุ่ง – ดาวร่วง ปี 2567 พบว่า ปีหน้า ธุรกิจการซื้อขายสินค้าออนไลน์ (E-Commerce) ขึ้นนำเป็นอันดับ 1 ของธุรกิจดาวรุ่ง ร่วมกับธุรกิจ Content, Youtuber, รีวิวสินค้า และ Influencer เหตุผลจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยนิยมซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น
นอกจากนี้ เทรนด์การทำ Content ส่งผลให้เกิด Content Creator ที่ผลิตเนื้อหาที่ช่วยให้ธุรกิจนำเสนอสินค้าและบริการ รวมถึงโน้มน้าวใจผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งธุรกิจ E-Commerce ในปีก่อนอยู่อันดับ 2 ส่วนธุรกิจทำ Content ในปีก่อน อยู่อันดับ 4
10 อันดับธุรกิจดาวรุ่งในปี 2567
อับดับ 1
– ธุรกิจ E-Commerce เนื่องจากผู้บริโภคปรับลดพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านหน้าร้าน เช่น ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ไปเป็นการใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น เพราะสะดวกสบาย สามารถเปรียบเทียบราคาและบริการได้
– ธุรกิจทำ Content, Youtuber, รีวิวสินค้า และ Influencer เนื่องจากหลังโควิด-19 คนหันมาใช้บริการผ่านออนไลน์มากขึ้น จึงทำให้เกิดการเติบโตต่อเนื่อง อีกทั้งมีต้นทุนต่ำ พฤติกรรมการใช้สื่อดิจิทัลของคนในปัจจุบัน เป็นการรับรู้ผ่านออนไลน์มากขึ้น และสามารถโน้มน้าวให้เกิดการตัดสินใจซื้อ
อับดับ 2
– ธุรกิจการแพทย์และความงาม เนื่องจากไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อีกทั้งคนในปัจจุบันมีความสนใจดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ และจากนโยบายของรัฐที่อยากให้ไทยเป็น Medical Hub จึงมีกระแสการเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
– ธุรกิจโฆษณา และสื่อออนไลน์ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ให้เวลา และใช้จ่ายผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น การผลิตสื่อออนไลน์มีต้นทุนต่ำ และมีแนวโน้มจะขึ้นมาเป็นสื่อหลักที่ใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น
– ธุรกิจโทรคมนาคมสื่อสาร เช่น ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต สัญญาณสื่อสารต่างๆ เนื่องจากเมกะเทรนด์ของธุรกิจในอนาคต มีการใช้ IoT และปรับสู่ระบบ Smart Solution มากขึ้น ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนโครงการต่างๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล, สมาร์ทซิตี้ ในขณะที่ภาคเอกชน มีแนวโน้มลงทุนขยายโครงข่ายและพัฒนาบริการเพื่อตอบสนองฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น
อันดับ 3
– Social Media และ Online Entertainment เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันใช้งานอินเตอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ทั้งการทำงาน ซื้อขายสินค้า การศึกษา และความบันเทิง ซึ่งแพลตฟอร์มออนไลน์ สามารพเข้าถึงได้ทั่วทุกมุมโลก
– ธุรกิจด้านการเงินธนาคาร Fintech การชำระเงินผ่านระบบเทคโนโลยี เพราะพฤติกรรมการชำระเงินด้วยอิเล็กทรอนิกส์ของผู้บริโภคในปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ประกอบกับการปรับตัวของธนาคารพาณิชย์ในยุคสังคมไร้เงินสด และนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ที่จะออกมาในปี 2567
– ธุรกิจ Cloud Service และ Cyber Security อัตราการเติบโตของ Digital Economy ทั่วโลกรวมถึงไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์ก็มีเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากการโจรกรรมข้อมูล การหลอกลวงออนไลน์ จึงทำให้หน่วยงานต้องมีการใช้บริการ Cyber Security มากขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยง
อันดับ 4
– ธุรกิจจัดคอนเสิร์ต, มหกรรมแสดงสินค้า, Event เนื่องจากรัฐบาลสนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้า และเทศกาลต่างๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และนักธุรกิจ ผู้ประกอบการมีการจัดคอนเสิร์ตทั้งศิลปินไทย และต่างชาติเพิ่มขึ้น ทำให้การจัดงานกระจายพื้นที่ไปมากกว่ากระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่
– ธุรกิจความเชื่อ (สายมู, หมอดู, ฮวงจุ้ย) เนื่องจากธุรกิจความเชื่อ อยู่ใน Soft Power ที่ช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและเผยแพร่วัฒนธรรม ขณะเดียวกัน ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม จึงทำให้ประชาชนหันไปพึ่งพาสิ่งที่เป็นความเชื่อ และความศรัทธามากขึ้น
– ธุรกิจอัญมณี เช่น ทองคำ เครื่องประดับ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย มีการเก็งกำไรทองคำของผู้บริโภคยุคใหม่มากขึ้น ตลอดจนมีรูปแบบการซื้อและเก็บสะสมในรูปแบบออนไลน์ จึงทำให้คนสามารถเข้าถึงทองได้มากขึ้น
อันดับ 5
– ธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต เนื่องจากประชาชนให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น อีกทั้งมีความเข้าใจเรื่องการวางแผนทางการเงินมากขึ้น ประกอบกับค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และผลิตภัณฑ์ด้านการประกันภัยมีหลากหลายขึ้น จึงทำให้คนสนใจทำประกันมากขึ้น
– ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และที่เกี่ยวข้อง ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ประกอบกับราคาพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันยังอยู่ในระดับสูงและมีความผันผวน สถานีชาร์จไฟฟ้ามีเพิ่มขึ้น ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการใช้ EV จากการให้สิทธิพิเศษทางภาษี ดังนั้นเหล่านี้จึงส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มากขึ้น
– ธุรกิจ Soft Power เช่น ซีรีย์ ภาพยนตร์ เพราะไทยมีวัฒนธรมที่เป็นเอกลักษณ์ ทั้งประวัติศาสตร์ ศิลปะ ดนตรี และอาหาร, กระแสความนิยมที่มีมากขึ้นของอาหารไทย ดนตรีไทย ภาพยนตร์ไทย
อันดับ 6
– ธุรกิจอาหารเสริม เนื่องจากประชาชนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น การผลิตอาหารเสริมในปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย
– ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (ที่ไม่มีแอลกอฮอล์) เนื่องจากกิจกรรมนันทนาการในประเทศทำได้มากขึ้น เช่น งานเลี้ยง สังสรรค์ เทศกาลดนตรี รับจัดเลี้ยง ขณะที่มีการเปิดตลาดส่งออกใหม่ในต่างประเทศ
– ธุรกิจเกี่ยวกับน้ำตาล เนื่องจากความต้องการบริโภคน้ำตาลของทั่วโลกสูงขึ้น เพื่อใช้บริโภคโดยตรงและเป็นสารปรุงแต่งรสในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มต่างๆ
อันดับ 7
– ธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) รัฐบาลมีนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจะทำให้ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ มีระดับรายได้สูงขึ้น นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมซื้อสินค้ากับร้าน Modern Trade มากขึ้นกว่าร้านค้าในรูปแบบเดิม หรือร้านโชห่วย และการกลับมาขยายตัวของการท่องเที่ยว ทำให้ร้านค้าปลีกสามาถแข่งขันกับธุรกิจ E-Commerce ได้
– ธุรกิจโลจิสติกส์ Delivery และคลังสินค้า พฤติกรรมผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น ทำให้มีบริการธุรกิจขนส่งของ และคลังเก็บสินค้ามากขึ้น
– ธุรกิจเงินด่วน โรงรับจำนำ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายแก้หนี้นอกระบบภาคประชาชน อีกทั้งปัจจุบันธุรกิจโรงรับจำนำปรับตัวด้วยการให้บริการที่สะดวกมากขึ้น และเปิดสาขาครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น รวมถึงการเพิ่มบริการประเมินราคาผ่านออนไลน์
อันดับ 8
– ธุรกิจสัตว์เลี้ยง เนื่องจากกระแสการเลี้ยงสัตว์ ในฐานะสมาชิกของครอบครัวได้รับความนิยมมากขึ้น
– ธุรกิจบันเทิงยามค่ำคืน ผับ บาร์ คาราโอเกะ รัฐบาลมีนโยบายผ่อนปรนด้วยการขยายเวลาเปิด-ปิด นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเดินทางเข้าไทยเพิ่มมากขึ้น จากการกระตุ้นท่องเที่ยวของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง
อันดับ 9
– ธุรกิจ E-Sport เกมส์ และที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันจำนวนสตรีมเมอร์เพิ่มมากขึ้น ทำให้คนสนใจตลาดเกมมากขึ้น มีการจัดการแข่งขันต่างๆ ทั่วโลก ในขณะที่ภาคการศึกษาของไทย สนับสนุนการสร้างทักษะแรงงานด้านนี้มากขึ้น รวมถึงมีการพัฒนาเทคโนโลยี และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยดึงดูดผู้เล่นเกมได้มากขึ้น
– ธุรกิจตลาดเพื่อการท่องเที่ยว ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากกระแสการผลักดันเรื่อง Soft Power และนโยบายกระตุ้นท่องเที่ยวของภาครัฐ, การโฆษณา หรือมี Influencer ในการเดินทางท่องเที่ยว รีวิวตลาดในสถานที่ต่างๆ ทำให้มีกระแสเดินทางท่องเที่ยวตาม
– ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ทัวร์ และที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น การยกเลิกวีซ่าชั่วคราวให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง การจัดแคมเปญหรือกิจกรรมสนับสนุนการท่องเที่ยวต่างๆ
อันดับ 10
– ธุรกิจพลังงานทดแทน เนื่องจากแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานทดแทนมีมากขึ้น เช่น โซลาร์เซลล์ เพราะราคาพลังงานทั้งก๊าซ และน้ำมันมีความผันผวน ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนใช้พลังงานสะอาด อีกทั้งสถาบันการเงินมีนโยบายสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจด้านพลังงานทางเลือก
– ธุรกิจยานยนต์ ไทยยังเป็นการผลิตสำคัญของรถยนต์สันดาป และแนวโน้มยังมีการฟื้นตัวดีในกลุ่มรถบรรทุก และรถจักรยานยนต์ ประกอบกับยอดขายในประเทศ ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ
– ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการก่อสร้าง รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและมีการสนับสนุน เช่น โครงการกู้ซื้อบ้านด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ, โครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านการขนส่งยังมีต่อเนื่อง ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือแหลมฉบัง และมีการขยายเส้นทางคมนาคมที่เอื้อต่อธุรกิจก่อสร้าง และโครงการที่อยู่อาศัยตามเส้นทางคมนาคม
10 อันดับธุรกิจดาวร่วงในปี 2567
ขณะที่ธุรกิจดาวร่วงในปีหน้า พบว่า อันดับ 1 คือ โทรศัพท์พื้นฐาน และร้านเช่าหนังสือ CD-VDO โดยมีสาเหตุสำคัญจากถูก Technology Disrupt รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค
อับดับ 1 โทรศัพท์พื้นฐาน, ธุรกิจร้านเช่าหนังสือ CD-VDO, ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ที่ไม่มีแพลตฟอร์มออนไลน์
อันดับ 2 ธุรกิจผลิต CD-DVD ที่จัดเก็บข้อมูลฮาร์ดดิสไดร์ฟ หรือเมมโมรี่ การ์ด, บริการส่งหนังสือพิมพ์
อันดับ 3 ธุรกิจคนกลาง, เครื่องปั้นดินเผา เซรามิก
อันดับ 4 ธุรกิจผลิตสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม
อันดับ 5 ธุรกิจผลิตสารเคมี
อันดับ 6 ร้านถ่ายรูป
อันดับ 7 ร้านขายเครื่องเล่นเกม แผ่นเกม, ธุรกิจทอผ้าจากธรรมชาติ
อันดับ 8 ธุรกิจถ่ายเอกสาร
อันดับ 9 ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไม้
อันดับ 10 ร้านโชห่วย, ธุรกิจผลิตกระดาษ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ธ.ค. 66)
Tags: ธนวรรธน์ พลวิชัย, ธุรกิจ, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ