โบรกเกอร์ประสานเสียงเชียร์ “ซื้อ” หุ้น บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) โดยมีมุมมองเชิงบวกหลังจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าทำสถิติใหม่ต่อเนื่อง จากการเปิดภาคเรียนและไม่มีวันหยุดในเดือนพ.ย. ขณะที่จำนวนผู้โดยสารในเดือนธ.ค.จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการจัดงานกาชาดที่สวนลุมพินี โดยบริษัทมองปีหน้าผู้โดยสารจะเติบโต 15-20% ทำให้คาดว่าในปีหน้าจำนวนผู้โดยสารวันทำงานจะแตะระดับ 5 แสนคนได้แน่นอน ขณะที่ผลการดำเนินงานในปี 67 ได้รับอานิสงส์จากการเปิดดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองซึ่งจะส่งต่อผู้โดยสารมาให้ BEM มากยิ่งขึ้น
ราคาหุ้น BEM ปิดเที่ยงวันนี้อยู่ที่ 8.05 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง โดยช่วง ต.ค.-ธ.ค.66 ราคาหุ้นเคลื่อนไหวต่ำกว่า 8.50 บาท และทำจุดต่ำสุด 7.50 บาท เมื่อ 30 พ.ย.66
นายกิจพัฒน วงศ์เมตตา นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง ระบุว่า ทิศทางการดำเนินงานในไตรมาส 4/66 ของ BEM คาดดีขึ้น YoY ทั้งจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าและจำนวนรถใช้ทางด่วน แต่กำไรอาจจะลดลง QoQ เนื่องจากในไตรมาส 3/66 มีรายได้จากเงินปันผลของบมจ.ทีทีดับบลิว (TTW) เข้ามา
ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 67 มองว่าผลจากการเปิดดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และรถไฟฟ้าสายสีเหลืองของ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) จะช่วยเพิ่มปริมาณคนเช้ามาในระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินของ BEM รวมทั้งการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว ก็จะเป็นปัจจัยหนุนให้ผู้ใช้บริการทางด่วนและรถไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้น
โดยจำนวนผู้ใช้ทางด่วนมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในปี 67 โดยคาดว่าจะเข้าใกล้ระดับก่อน covid มากยิ่งขึ้นหรืออาจจะโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งปัจจุบันผู้ใช้ทางด่วนอยู่ที่ราว 90% ของระดับก่อน Covid ณ ไตรมาส 3/66
สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มรอติดตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดก่อน แต่ในปัจจุบัน BEM ยังไม่มีการลงทุนหรือทำอะไรเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับโครงการสายสีส้ม จึงคาดว่าจะไม่กระทบในเรื่องของผลประกอบการ ทั้งนี้ ปัจจัยที่ต้องติดตามคือการลงทุนใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง รวมทั้งประเด็นเรื่องค่าไฟ ซึ่งหากในปี 67 ค่าไฟปรับสูงขึ้นมาก อาจจะกระทบต่อผลประกอบการบ้าง
บล.ทิสโก้ ระบุว่า BEM มีจำนวนผู้โดยสารเดือน พ.ย.สร้างสถิติใหม่มาอยู่ที่ 431,495 เที่ยวต่อคนต่อวัน (4% MoM, 22% YoY) ผลจากการเปิดภาคเรียนและไม่มีวันหยุด ขณะที่จำนวนรถใช้ทางด่วนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 3% MoM, 3.7% YoY มาที่ 1.14 ล้านคันต่อวัน โดย YTD เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 1.115 ล้านคันต่อวัน (8.1% YoY)
นอกจากนั้น เรายังคาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการจัดงานกาชาดที่สวนลุมพินีในวันที่ 8-18 ธ.ค. ซึ่งน่าจะทำให้ผู้โดยสารสถานีลุมพินีและสีลมเพิ่มขึ้น
โดยบริษัทมองปีหน้าผู้โดยสารจะเติบโต 15-20% ทำให้คาดว่าในปีหน้าจำนวนผู้โดยสารวันทำงานจะแตะระดับ 5 แสนคนได้แน่นอน ยังไม่รวมถึงผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นจากการเปิดโครงการใหม่ๆ รอบเส้นทาง ในปีหน้าจะมี 2 โครงการใหญ่ คือ โครงการ One Bangkok ที่สถานีลุมพินี และโครงการ Dusit Central Park ที่สถานีสีลม ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าขึ้นอีก
อีกทั้งราคาหุ้น BEM ปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมาจากความกังวลเกี่ยวกับนโยบายรัฐ อาทิ นโยบาย 20 บาทตลอดสาย ซึ่งเรามองว่านโยบาย 20 บาทตลอดสายมีผลกระทบที่จำกัด เนื่องจากรัฐต้องชดเชยให้กับเอกชนสำหรับผลประโยชน์ที่เสียไป สำหรับโครงการสายสีส้ม รอการตัดสินคดีสุดท้ายสำหรับการปรับเปลี่ยน TOR สำหรับการประมูลครั้งที่ 2 ซึ่งศาลปกครองการพิจารณายกฟ้อง และอยู่ระหว่างการรอศาลปกครองสูงสุดพิจารณา เรามองว่าราคาหุ้นปรับลงมาสะท้อนไปมากแล้ว ดังนั้น เรายังคงแนะนำ “ซื้อ” มูลค่าที่เหมาะสมของเราอยู่ที่ 10.60 บาท (SOTP)
ขณะที่ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุว่าไตรมาส 4/66 ยังเห็นกำไร BEM โตได้ YoY ตามผู้ใช้บริการที่ปรับตัวขึ้น แต่จะลดลง QoQ จากวันหยุดยาวที่มีมากกว่า โดยเดือนต.ค.มีผู้ใช้ทางด่วน 1.11 ล้านคันต่อวัน เพิ่มขึ้น 2.6% YoY คิดเป็น 89% ก่อนโควิดปี 62 การเติบโตมาจากทางด่วนส่วนดี (พราราม 9-ศรีนครินทร์) ที่รับนักท่องเที่ยวมาจากสนามบินสุวรรณภูมิ ส่วนซีที่ต่อกับส่วนดีเพื่อเข้ามาในเมือง และ SOE ซึ่งเปิดใช้งานมา 7 ปียังเติบโตได้ดี
ขณะที่ผู้ใช้รถไฟฟ้า 4.15 แสนคนต่อวัน เพิ่มขึ้น 21.4% YoY ได้ประโยชน์จากการเปิดใช้สายสีน้ำเงินเต็มเส้นทางและฟื้นตัวหลังโควิด นักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นและการเปิดรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่เชื่อมต่อกับสถานีลาดพร้าว ทำให้ผู้โดยสารคิดเป็น 110.5% ของปี 2562 ซึ่งเดือน ต.ค. โรงเรียนและมหาวิทยาลัยอยู่ในช่วงของการปิดเทอม ส่วนเดือน พ.ย. คาดตัวเลขผู้ใช้บริการจะดีขึ้นกว่า เดือน ต.ค. และอ่อนตัวลงในเดือน ธ.ค. อีกครั้งจากวันหยุดที่เพิ่มขึ้น
แม้ในปีนี้จะเห็นกำไรฟื้นตัวมาในระดับหนึ่งแล้ว แต่ในปี 67 คาดจะเห็นการฟื้นตัวต่อเนื่อง เพราะในครึ่งปีแรก 66 ยังมีผลกระทบจากโควิดอยู่ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าที่ในครึ่งปีแรกมีผู้โดยสารเฉลี่ย 3.66 แสนคนต่อวัน เทียบกับก.ค.-ต.ค. 66 ที่ 4.12 แสนคน สายสีเหลืองที่จะมีการเติบโตของผู้โดยสารและส่งต่อผู้โดยสารมาให้ BEM มากขึ้น
อย่างไรก็ตามทางฝ่ายได้มีการปรับประมาณการผู้ใช้บริการทางด่วนและรถไฟฟ้าลงเล็กน้อย เพื่อให้สะท้อนภาพในงวด 9 เดือนของปี 66 จึงปรับลดกำไรลงเป็น 3,343 ล้านบาท และในปี 67 คาดกำไรจะอยู่ที่ 4,065 ล้านบาท บนวิธี SOTP ราคาพื้นฐานปรับลงจาก 11.20 บาท เป็น 10.90 บาท ยังมี Upside อยู่ ยังแนะนำ “ซื้อ”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ธ.ค. 66)
Tags: BEM, SCOOP, กิจพัฒน วงศ์เมตตา, ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ