นายกฤตภาส วิริยจันทร์ตา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท แพลนเน็ต อีวี จำกัด (PlanetEV) บริษัทในเครือ บมจ.แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย (PLANET) เปิดเผยว่า บริษัทได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายและศูนย์บริการรถยนต์ไฟฟ้า 100% ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการจาก Chongqing SERES group บริษัทผู้นำในการผลิตรถยนต์และรถบรรทุกไฟฟ้า 100% รายใหญ่จากประเทศจีน ตั้งเป้ายอดขาย 1,000 คัน ราคาเฉลี่ยคันละ 890,000 บาท สร้างรายได้ 1,000 ล้านบาท ในปี 67
บริษัทจะเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ แบรนด์ SOKON ซึ่งปัจจุบันนำร่องส่งมอบ Pickup Truck ล็อตแรก 30 คันให้บมจ. ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) และมีจำนวนรถเตรียมส่งมอบให้ลูกค้าราว 80-100 คัน ทยอยส่งมอบภายในไตรมาส 1/67 โดยสัดส่วนลูกค้าปัจจุบันเป็นลูกค้าเอกชน 70% และภาครัฐ 30%
นอกจากนี้บริษัทอยู่ในระหว่างการพูดคุยกับพันธมิตรเพื่อลงทุนก่อสร้างโรงงานประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในไตรมาส 1/67 และก่อสร้างโรงงานในปลายปี 67 และปีหน้าวางแผนลงทุน 30-40 ล้านบาทในการขยาย 1,000 หัวชาร์จ พร้อมทั้งอยู่ในระหว่างการพูดคุยเพื่อขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศลาว
รวมทั้งยังวางแผนขยายไปยังธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า (EV passenger car) ซึ่งเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง โดยจะนำแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า SERES เข้ามาทำตลาด ซึ่งรวมถึงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ,แบตเตอรี่,เครื่องชาร์จ, ตลอดจนรถตู้ไฟฟ้า ที่พร้อมให้บริการปรับแต่ง ดัดแปลงให้สอดคล้องและตรงกับความต้องการของลูกค้า เช่น การดัดแปลงเป็นรถขนส่งสินค้า, รถสาธารณะรับส่งผู้คน, รถควบคุมอุณภูมิ, รถพยาบาล, รถขนส่งสินค้า หรืออื่นๆ
ทั้งนี้ PlanetEV เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง PLANET ถือหุ้น 90% และบริษัท Singapore Electric Vehicles Pte (SEV) ผู้ประกอบการรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ในสิงค์โปร์ ถือหุ้น 10% โดยประกอบธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า EV มีสัดส่วนรายได้ 60% สถานีชาร์จ EV 20% และ โซลาร์รูฟท็อป 20%
สำหรับ แผนการดำเนินธุรกิจจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ Sokon ในประเทศไทย มุ่งเน้นจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ในลักษณะซื้อขาด, เช่าซื้อ (Leasing) สนับสนุนการผ่อนชำระโดย กรุงศรีออโต้ ,และเช่าใช้ (Rental) สำหรับโครงการขนาดใหญ่ ที่ซื้อจำนวนมาก (Fleet) และ Dealer สำหรับลูกค้าขนาดเล็กและลูกค้าทั่วไป
โดยกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าทำตลาด ประกอบด้วย 5 กลุ่มหลัก คือ 1.องค์กรธุรกิจและโรงงานอุตสาหกรรมส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ที่ต้องการใช้ Carbon Credit และ Carbon Footprint สำหรับเงื่อนไขการซื้อสินค้า 2.กลุ่มบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ต้องให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติภายใต้แนวคิด ESG และ Climate Change 3. หน่วยงานราชการ เทศบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ต้องเปลี่ยนรถยนต์ไฟฟ้า ทดแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันตามนโยบายของรัฐบาลที่มีเป้าหมายให้เกิดภาวะคาร์บอนเป็นศูนย์ (Carbon NetZero ) และเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน 4.กลุ่มบริษัทให้บริการขนส่งสินค้า (Logistic) ที่ต้องการลดต้นทุน และเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในตลาด Logistic และ 5. กลุ่ม SME และบริษัททั่วไป
โดยรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ แบรนด์ Sokon ที่นำมาเปิดตัวและทำตลาดในประเทศไทย ประกอบด้วย 1. รถกระบะไฟฟ้า (Pickup Truck) 2.รถตู้พลังงานไฟฟ้า รุ่น EC35 ตัวเลือกที่ดีสำหรับองค์กรในระยะยาว
นายกฤตภาส กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในปี 2567 PlanetEV มีแผนขยายธุรกิจ โดยจะนำรถยนต์ไฟฟ้า (EV passenger car) SERES เข้ามาทำตลาด ซึ่งรวมถึงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ,แบตเตอรี่,เครื่องชาร์จ, ตลอดจนรถตู้ไฟฟ้า ที่พร้อมให้บริการปรับแต่ง ดัดแปลงให้สอดคล้องและตรงกับความต้องการของลูกค้า เช่น การดัดแปลงเป็นรถขนส่งสินค้า, รถสาธารณะรับส่งผู้คน, รถควบคุมอุณภูมิ, รถพยาบาล, รถขนส่งสินค้า หรืออื่นๆ โดย ตั้งเป้าจำหน่าย จำนวน 1,000 คัน
นายประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PLANET กล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานปี 67 คาดเทิร์นอะราวด์ จากการลงทุนในกลุ่มบริษัทย่อย
บริษัทวางแผนจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างเป็นบริษัท Holding ภายใน 2 ปีข้างหน้า โดยบริษัทย่อยประกอบด้วย PlanetFiber (แพลนเน็ตไฟเบอร์) ดำเนินธุรกิจการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโครงข่ายใยแก้วนำแสง PlanetCloud (แพลนเน็ตคลาวด์) ดำเนินธุรกิจด้านดิจิทัลเทคโนโลยี PlanetUtility (แพลนเน็ตยูทิลิตี้) ดำเนินธุรกิจด้านการบริหารจัดการ น้ำ และพลังงานทางเลือก PlanetCyber (แพลนเน็ตไซเบอร์) ดำเนินธุรกิจด้านการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ และ PlanetEV (แพลนเน็ตอีวี) ดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้บริษัทมีรายได้ประจำ (recurring income) จากบริษัทย่อยประมาณ 20-25% ซึ่งในปี 67 ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำเป็น 30%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ธ.ค. 66)
Tags: PLANET, กฤตภาส วิริยจันทร์ตา, รถยนต์ไฟฟ้า, หุ้นไทย, แพลนเน็ต อีวี