นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลประสบผลสำเร็จในการสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ล่าสุดปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอกับความต้องการในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร และอุตสาหกรรม แม้ในช่วงที่ผ่านมามีปริมาณฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในพื้นที่รับน้ำของอ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี อันเนื่องมาจากสภาวะเอลนีโญ
แต่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้โครงข่ายน้ำภาคตะวันออกในการสูบผันน้ำ โดยเฉพาะการสูบผันน้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำป่าสักผ่านทางคลองพระองค์ไชยานุชิตไปยังอ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ควบคู่ไปกับการลงพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับพื้นที่ EEC ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งยังได้วางแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้าถึง 2 ปีอีกด้วย
ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า การสูบผันน้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำป่าสักผ่านทางคลองพระองค์ไชยานุชิตไปยังอ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี โดยใช้โครงข่ายน้ำภาคตะวันออกในปีนี้สามารถสูบผันน้ำเต็มศักยภาพได้ปริมาณมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการบูรณาการร่วมกันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพทั้ง สทนช. กรมชลประทาน การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก และคณะกรรมการลุ่มน้ำบางปะกงให้ดำเนินการตามแผน ซึ่งตามแผนนั้นเริ่มผันน้ำตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค.-30 พ.ย.66 แต่ได้มีการลงพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง สามารถขยายระยะเวลาการสูบผันน้ำมาสิ้นสุดในวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา
สำหรับปริมาณน้ำที่สูบผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิตมากักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำบางพระในปี 2566 มีปริมาณทั้งหมด 64.69 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แบ่งเป็น ช่วงแรกตั้งแต่ที่ 8 ก.ค.-30 พ.ย.ที่ผ่านมา จำนวน 58.25 ล้าน ลบ.ม. ที่เหลือเป็นปริมาณน้ำที่สูบผันน้ำในช่วงที่ขยายระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1-15 ธ.ค.66 ตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการ CSR และประชาชนในพื้นที่คลองพระองค์ไชยานุชิต ได้กำหนดสูบผันน้ำในอัตราประมาณ 500,000 ลบ.ม.ต่อวัน และจะหยุดสูบเมื่อระดับน้ำหน้าสถานีสูบพระองค์ฯ อยู่ที่ +0.20 ม.รทก. ค่าความเค็มไม่เกิน 0.5 กรัมต่อลิตร และการบริหารจัดการน้ำผ่าน ปตร.บึงฝรั่งไม่น้อยกว่า 10 ลบ.ม.ต่อวินาที ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวขัองยังได้หารือร่วมกันเพื่อขยายกรอบเวลาการสูบผันน้ำเพิ่มเติมหากมีปริมาณน้ำเพียงพอ และอยู่ในเงื่อนไขไม่กระทบต่อการใช้น้ำของเกษตรกรต้นทาง
สถิติการสูบผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิต-อ่างเก็บน้ำบางพระที่ผ่านมา ในปี 2558 สูบผันน้ำได้ 26.68 ล้าน ลบ.ม., ปี 2559 สูบผันน้ำได้ 62.12 ล้าน ลบ.ม., ปี 2560 สูบผันน้ำได้ 16.55 ล้าน ลบ.ม., ปี 2561 สูบผันน้ำได้ 38.19 ล้าน ลบ.ม., ปี 2562 สูบผันน้ำได้ 46.66 ล้าน ลบ.ม., ปี 2563 สูบผันน้ำได้ 42.17 ล้าน ลบ.ม., ปี 2564 สูบผันน้ำได้ 15.13 ล้าน ลบ.ม., ปี 2565 สูบผันน้ำได้ 15.84 ล้าน ลบ.ม. และล่าสุดปี 2566 สามารถสูบผันน้ำได้ถึง 64.69 ล้าน ลบ.ม.มากที่สุด โดยไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อพื้นที่ต้นน้ำ
เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า นอกจากการสูบผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิตแล้วยังได้มีการสูบผันน้ำแม่น้ำบางปะกงมายังอ่างเก็บน้ำบางพระอีกด้วย ซึ่งในปี 2566 สามารถสูบน้ำได้รวม 24.85 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม เมื่อสูบผันน้ำมาเก็บไว้แล้วจะมีการจัดสรรน้ำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ ควบคู่ไปด้วย ทำให้อ่างเก็บน้ำบางพระล่าสุดมีปริมาณน้ำ 88 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 75% เมื่อรวมกับอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ EEC เขตจังหวัดชลบุรีและระยอง ทั้งหมด 11 แห่ง มีปริมาณน้ำรวม 632.54 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 84.50% ของความจุเพียงพอกับความต้องการใช้น้ำของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมในช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 และช่วงต้นฤดูฝนปี 2567 อย่างแน่นอน
“ที่ผ่านมาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC สทนช.ได้มีการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนรองรับสถานการณ์เอลนีโญ เพื่อสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำให้กับพื้นที่ EEC นอกจากจะมีการสูบผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิต-อ่างเก็บน้ำบางพระ และการสูบผันน้ำจากแม่น้ำบางปะกง-อ่างเก็บน้ำบางพระดังกล่าวแล้ว ยังได้มีการสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์-อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล การสูบน้ำจากสถานีสูบน้ำคลองสะพาน-อ่างเก็บน้ำประแสร์ การสูบผันน้ำจากคลองวังโตนด-อ่างเก็บน้ำประแสร์ และการสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์-อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ผ่านโครงข่ายน้ำภาคตะวันออกเพื่อเติมน้ำต้นทุนอย่างต่อเนื่องอีกด้วย พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องการดำเนินงานตาม 9 มาตรการรับมือฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด”
นายสุรสีห์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ธ.ค. 66)
Tags: EEC, ปริมาณน้ำ, สทนช., สมศักดิ์ เทพสุทิน, สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก