รายงานข่าว แจ้งว่า กรรมการ กสทช.ทั้ง 4 ราย ประกอบด้วย รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย, พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต และ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ได้ส่งบันทึกข้อความ ด่วนที่สุดที่ สทช 1003/353 ถึงประธาน กสทช. เรื่อง ขอให้มอบหมายสำนักงาน กสทช.รวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์และผลกระทบต่อผู้บริโภคอันเนื่องมาจากคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ปัญหาอัตราค่าบริการสูงขึ้นและการเปลี่ยนแปลงแพ็คเกจการให้บริการโดยอัตโนมัติเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม กสทช.ครั้งที่ 23/2566 ในวันที่ 20 ธ.ค.66
การรวบรวมข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเรื่องสืบเนื่องจากมติการประชุม กสทช.นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ต.ค.65 ซึ่งที่ประชุมเสียงข้างมากรับทราบการรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) พร้อมกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะในเรื่องอัตราค่าบริการและสัญญาการให้บริการ ตลอดจนคุณภาพการให้บริการและคุณภาพสัญญาณไว้
ก่อนหน้านี้มีการบรรจุระเบียบวาระที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม เข้าสู่การพิจารณาของ กสทช. ครั้งที่ 22/2566 วันที่ 23 พ.ย.66 ในระเบียบวาระ 3.6 โดยสำนักงาน กสทช. รวบรวมรายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการแต่ละครั้ง แต่ไม่ได้จัดส่งตารางรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะแต่อย่างใด และในการประชุม กสทช.วันที่ 20 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ ไม่ได้มีการบรรจุวาระเพื่อพิจารณาในเรื่องดังกล่าว
กสทช.ทั้ง 4 คน จึงมีบันทึกด่วนที่สุดถึงประธาน กสทช.ขอให้มีการบรรจุวาระดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณา โดยเนื้อความในบันทึกด่วนที่สุดฉบับดังกล่าวว่า ตามที่สาธารณชนมีข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับคุณภาพการให้บริการในกิจการโทรคมนาคมโดยเฉพาะปัญหาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตมีคุณภาพต่ำ อัตราค่าบริการสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงแพคเกจการให้บริการโดยอัตโนมัติ อันเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับมติการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ต.ค.65 ซึ่งที่ประชุมเสียงข้างมากรับทราบการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะในเรื่องอัตราค่าบริการและสัญญาการให้บริการ ตลอดจนคุณภาพการให้บริการและคุณภาพสัญญาณไว้
ในการนี้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของ กสทช.ที่จะกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพรวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงขอนำเรียนท่านในฐานะประธาน กสทช. และ กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ได้โปรดมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. รวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์และผลกระทบที่ผู้บริโภคได้รับจากการให้บริการโทรคมนาคม โดยเฉพาะปัญหาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตมีคุณภาพต่ำ อัตราค่าบริการสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงแพคเกจการให้บริการโดยอัตโนมัติ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 23/2566 ในวันที่ 20 ธ.ค.66 เพื่อให้กรรมการ กสทช.ได้ร่วมพิจารณาข้อเท็จจริงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วน
นอกจากนี้ ตามที่ กสทช. ในคราวประชุมครั้งที่ 22/2566 เมื่อวันที่ 23 พ.ย.66 ได้มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจตามประกาศ กสทช.เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ (1) ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการรวมธุรกิจของผู้ขอรวมธุรกิจตามเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะทั้งก่อน (Ex Ante) และหลังการรวมธุรกิจ (Ex Post) ตามที่ กสทช. กำหนด (2) ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะในการกำหนดมาตรการเฉพาะภายหลังการรวมธุรกิจ (Ex Post) (3) จัดทำรายงานผลการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการรวมธุรกิจตามเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะเป็นระยะ ๆ จึงเห็นว่า เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการมีความต่อเนื่อง สำนักงาน กสทช.ควรเร่งดำเนินการขยายเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ ชุดดังกล่าวซึ่งครบวาระไปแล้วตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค.66 และพร้อมกันนี้ขอให้โปรดพิจารณามอบหมายให้สำนักงาน กสทช.จัดตั้งคณะทำงานพหุภาคีเพื่อติดตามปัญหาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตมีคุณภาพต่ำ อัตราค่าบริการสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงแพคเกจการให้บริการโดยอัตโนมัติ โดยเชิญภาคส่วนต่างๆ ประกอบด้วย ผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคม องค์กรผู้บริโภค และสำนักงาน กสทช. เพื่อติดตาม เฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ธ.ค. 66)
Tags: กสทช., ควบรวมกิจการ, ดีแทค, ทรู คอร์ปอเรชั่น