พาณิชย์เอาจริงปราบนอมินี กางแผนปี 67 ลุยตรวจสอบนิติบุคคล 2.6 หมื่นราย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงแผนการตรวจสอบธุรกิจที่มีลักษณะนอมินี หรือการให้คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าว เพื่อหลีกเลี่ยงการขออนุญาตประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ว่า ในปี 67 กรมฯ มีแผนที่จะตรวจสอบธุรกิจที่มีแนวโน้มเข้าข่ายเป็นนอมินี ตั้งแต่ขั้นตอนการจดทะเบียน

โดยก่อนจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล จะตรวจสอบเอกสารที่ธนาคารออกให้ เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงินของผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นคนไทยที่ลงทุน หรือถือหุ้นในนิติบุคคลร่วมกับคนต่างด้าว เพื่อแสดงความน่าเชื่อถือว่าคนไทยที่ร่วมลงทุนมีฐานะทางการเงินที่สามารถลงทุนด้วยตนเองได้ และเมื่อจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว จะมีการกำกับดูแลอย่างต่อเนื่อง ตามแผนงานโครงการตรวจสอบประจำปี

ทั้งนี้ ในปี 67 มีเป้าหมายตรวจสอบนิติบุคคลประมาณ 26,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจโรงแรม-รีสอร์ต เป้าหมาย 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่, เชียงราย, ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี, ชลบุรี, ระยอง, ประจวบคีรีขันธ์, เพชรบุรี และกรุงเทพฯ

สำหรับการตรวจสอบนิติบุคคลดังกล่าว พิจารณาจากการถือหุ้นของคนต่างด้าว ตั้งแต่ 40% ขึ้นไป เป็นธุรกิจที่มีคนต่างด้าวเป็นผู้มีอำนาจกระทำการ มีการกำหนดให้สิทธิคนต่างด้าวมากกว่าคนไทย ทั้งเรื่องสิทธิในการออกเสียงลงคะแนน สิทธิการรับเงินปันผล รวมทั้งสิทธิการรับคืนทุนเมื่อเลิกกิจการ เป็นต้น และยังได้นำเรื่องแหล่งที่มาของเงินที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น การกู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงินแก่คนต่างด้าว โดยมีเงื่อนไขที่ผิดปกติในทางการค้า หรือทางธุรกิจการเงินทั่วไป มาประกอบการพิจารณาด้วย

ส่วนผลการตรวจสอบนอมินีในปี 66 กรมฯ ได้ตรวจสอบนิติบุคคลที่มีความเสี่ยงรวม 15,000 ราย และเมื่อตรวจสอบแล้ว เห็นว่า ต้องตรวจสอบเชิงลึกประมาณ 400 ราย จึงได้ทำการตรวจสอบจนพบพฤติกรรมน่าสงสัย และได้ส่งดำเนินคดีรวม 8 ราย ตามความผิดของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ส่วนรายอื่นๆ ที่ไม่ผิดกฎหมายที่กรมฯ ดูแลอยู่ แต่ผิดกฎหมายของหน่วยงานอื่น เช่น การตรวจคนเข้าเมือง หรือภาษี ซึ่งได้ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อแล้ว

นอกจากนี้ กรมฯ ได้ร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรในการแก้ไขปัญหาการประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ระหว่าง 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการท่องเที่ยว สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมสอบสวนคดีพิเศษ กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

โดยได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกัน เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 66 เพื่อให้การดำเนินงานด้านการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูล การกำกับดูแลและการป้องปราม การส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว และการจัดศูนย์ปฏิบัติการร่วมแก้ไขปัญหามีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น และจะมีการหารือร่วมกันในแผนการปฏิบัติงานร่วมกันต่อไป

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ธ.ค. 66)

Tags: ,
Back to Top