ผลงานรัฐบาลเศรษฐา 100 วันแรก สอบผ่านหรือไม่ผ่าน?

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า พรรคก้าวไกล ได้มีการวิเคราะห์ผลงานรัฐบาลของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมาเป็นเวลา 100 วัน ซึ่งหากเป็นคะแนน ส่วนตัวให้ผ่านบ้างไม่ผ่านบ้าง บางเรื่องทำได้ดีแล้ว ก็ขอให้ทำต่อ บางเรื่องยังมีข้อที่จะต้องพัฒนา ปรับปรุง ซึ่งหวังว่ารัฐบาลจะรับฟังการทำงานของฝ่ายค้านอย่างสร้างสรรค์ และฟังความคิดเห็นของประชาชน

วิเคราะห์ผลงานตามกรอบ “5 คิด’s”

1. “คิดดี ทำได้” จากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล รัฐบาลสามารถช่วยตัวประกันไทยได้เกือบทั้งหมด และมีมาตรการเยียวยาให้แรงงาน, การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) ได้แล้ว 1 ล้านโดส และมาตรการแก้หนี้ทั้งในระบบ และนอกระบบ (พักหนี้)

อย่างไรก็ดี มีข้อเสนอแนะ คือ ควรเร่งช่วยเหลือตัวประกันอีก 9 คน, เร่งอนุมัติเงินเยียวยาให้รวดเร็วไม่ล่าช้า, อำนวยความสะดวกแรงงานให้สามารถกลับเข้าทำงานในอิสราเอลได้, ดูแลแรงงานที่ยังอยู่อิสราเอลระหว่างช่วงสงคราม และพัฒนาระบบช่วยเหลือคนไทยในต่างแดน

2. “คิดไป ทำไป” เรื่องโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหลายครั้ง โดยเฉพาะเรื่องที่มาของงบประมาณตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งจนถึงจัดตั้งรัฐบาล ที่มีการเปลี่ยนอย่างน้อย 4 ครั้ง และยังมีเรื่องการใช้เทคโนโลยีจากบล็อกเชนเป็นเป๋าตัง เรื่องกรอบโครงการจาก 56 ล้านคน เป็น 50 ล้านคน และระยะเวลาในการเริ่มโครงการ เป็นต้น, เรื่องเงินเดือนข้าราชการ โครงการ Land Bridge

นายพิธา กล่าวว่า หากท้ายที่สุดแล้วไม่สามารถดำเนินโครงการฯ ได้จริง ก็หวังว่ารัฐบาลจะมีแผนสองเตรียมพร้อมไว้แล้ว

“สิ่งที่เราคาดหวังจากรัฐบาลคือ แผน 2 กรณีที่เงินดิจิทัลไม่สามารถทำได้ หรือติดปัญหาในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น กลาง ยาว รัฐบาลในปีหน้าควรมีความชัดเจน ไม่ควรปรับเปลี่ยนอีกแล้ว ถ้าไม่ได้ดิจิทัลวอลเล็ต ควรเกาให้ถูกที่คัน กระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ไม่ว่าภาคการลงทุนอุตสาหกรรม อย่าลืมว่า GDP ไม่ได้มาจากการกระตุ้นจากบริโภคอย่างเดียว การลงทุนก็สำคัญเช่นกัน การบริหารการส่งออกช่วงเศรษฐกิจโลกแบบนี้ก็สำคัญ เรามีวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มากกว่า หากทำไม่ได้ ควรมีแผน 2 ได้แล้ว” นายพิธา กล่าว

3. “คิดสั้น (ยัง) ไม่คิดยาว” เรื่องการลดค่าไฟ นายพิธา ระบุว่าว่า ควรมีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ช่วยลดค่าไฟได้ 70 สตางค์/หน่วย, เร่งแก้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างรัฐกับเอกชน เพื่อลดค่าพร้อมจ่าย ช่วยลดค่าไฟได้ 15 สตางค์/หน่วย และหยุดการเซ็นสัญญากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ทั้งๆ ที่ปริมาณกำลังไฟฟ้าสำรองของประเทศสูงเกินมาตรฐาน

– เรื่องการลดค่าโดยสาร รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย สายสีม่วงและสีแดง ทั้งนี้ มองว่า ควรมีการปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีเขียว และ Airport Rail Link ที่มีผู้ใช้จำนวนมากก่อน และออกมาตรการที่ครอบคลุมโครงข่ายขนส่งสาธารณะทุกประเภท เช่น พัฒนาระบบค่าโดยสารร่วม

4. “คิดใหญ่ ทำเล็ก” เรื่อง Soft Power ที่เริ่มมีการตั้งคณะกรรมการแล้ว และเคาะงบประมาณสนับสนุน 11 อุตสาหกรรม เป็นต้น แต่สิ่งที่ควรจะเป็น คือ การเสนอแก้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์, การเสนอ พ.ร.บ. ตั้ง THACCA หรือเพิ่มงบประมาณหน่วยงานเดิมที่มีอยู่, แก้กฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ เพื่อลดขั้นตอนขออนุญาตกองถ่าย หรือจัดเฟสติวัล, การสนับสนุนการรวมตัวของแรงงานฟรีแลนซ์, แก้กฎกระทรวงสุราก้าวหน้า และคูปองเปิดโลก 2,000 บาท

– เรื่องการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

– เรื่องฟรีวีซ่าหลายประเทศ

– เรื่องการขึ้นค่าแรง

5. “คิดอย่าง ทำอย่าง” เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ที่แก้รัฐธรรมนูญไม่ชัดเจน สิ่งที่ควรจะเป็น คือ ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ต้องแก้ได้ทุกหมวด, สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% และถ้าจะมีประชามติรอบแรก ควรมี 1+2 คำถาม คือ 1) ถามเรื่องแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดย สสร. หรือไม่ 2) สสร. ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ และ 3) สสร. ควรมีอำนาจพิจารณาแก้ร่างรัฐธรรมนูญทุกหมวดหรือไม่, เรื่องการปฏิรูปกองทัพ

แนะมี Strategic Roadmap ที่ชัดเจน

สำหรับการทำงานของรัฐบาลปีหน้า นายพิธา กล่าวว่า ควรมี Strategic Roadmap ที่ชัดเจน ดังนี้

1. ควรมีแผนที่ชัดเจนในการทำงาน เริ่มจากการมาแถลงงบประมาณต่อสภาฯ ชี้แจงว่าในอีก 1 ปีข้างหน้ามีแผนจะทำอะไรบ้าง พร้อมกับตัวชี้วัดที่ฝ่ายค้านจะสามารถวัดผลได้อย่างชัดเจน

2. รัฐบาลต้องมีกระบวนการทำงานที่เป็นมืออาชีพมากกว่านี้ การสั่งการต้องไม่สับสน ก่อนประกาศอะไรต้องคิดถึงวิธีที่จะนำไปสู่การปฏิบัติเสียก่อน นอกจาก know what ต้องมี know how ด้วย ไม่ใช่คิดไปทำไป ให้ข้าราชการเสนอมา พอไม่ถูกใจก็ให้ไปแก้ใหม่ โดยที่ไม่มีภาพชัดเจนเลยว่าต้องการอะไรกันแน่

3. รัฐบาลผสมต้องทำงานให้เป็นเอกภาพกว่านี้ ต้องพูดคุยกันให้ตกผลึกถึงนโยบาย หรือโครงการเรือธงของตนเอง ไม่ใช่ขัดแย้งกันในขั้นดำเนินการ นายกรัฐมนตรีต้องมีอำนาจนำเหนือคณะรัฐมนตรีอย่างแท้จริง

4. ทำการศึกษาโครงการอย่างละเอียดเสียก่อนประกาศออกไป ในปีหน้าหากรัฐบาลจะมีโครงการอะไรที่เป็น Mega Project อีก เช่น Land Bridge ก็ขอให้ทำการศึกษาอย่างละเอียดเสียก่อนประกาศออกไป อย่าให้ซ้ำรอยแลนด์บริดจ์ที่วาดฝันปั้นตัวเลขสูงเกินจริง เสี่ยงทั้งในด้าน Implement เหมือนดิจิทัลวอลเล็ต และเสี่ยงคอร์รัปชันสูง

ทั้งนี้ หากทำได้ตามนี้ ก็มั่นใจว่าจะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในปีหน้าสามารถเรียกความเชื่อมั่น และแสดงความมุ่งมั่นให้ประชาชนได้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาล ที่จะรักษาสัญญาที่มีไว้กับประชาชนในการหาเสียง รวมทั้งสามารถบริหารได้ดีขึ้น และสุดท้ายก็จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นจากทางประชาชนทั้งในประเทศและนอกประเทศได้ไม่มากก็น้อย

“เราประเมินรัฐบาลไม่ได้ เป็นการวิเคราะห์ พอรัฐบาลไม่มี Road Map ออกมาชัดเจนให้ดู ก็เลยไม่รู้ว่าตั้งใจทำอะไร และไม่สามารถประเมินเป็นเกรดได้ ทำได้อย่างมากแค่การวิเคราะห์ โดยวิเคราะห์อย่างฝ่ายค้านเชิงรุก สร้างสรรค์ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีข้อดีอยู่หลายข้อ เช่น ช่วยเหลือผู้ถูกลักพาตัว หรือเรื่องวัคซีน HPV แต่ที่เหลืออาจต้องมีการปรับปรุง และที่แยกออกมาหลายประเภท โดยเนื้อหาถ้าเปิดใจฟัง คือคิดสั้นโอเคแล้ว ที่เหลือต้องไปคิดยาวต่อ หรือบางเรื่องทำไว้ใหญ่ แต่เริ่มต้นอาจผิดทิศทาง หลายอย่างน่าจะทำให้ทิศทางการบริหารในปีหน้าเข้ารูปเข้ารอยมากกว่านี้” นายพิธา กล่าว

แนะปรับทิศทางการทำงาน ให้โอกาสนายกฯ ทำงานเต็มที่

นายพิธา กล่าวถึงกรณีมีการมองว่าหลายเรื่องรัฐบาลจะหาทางลง เช่น เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต นายพิธา กล่าวว่า รัฐบาลหาทางลงหรือไม่ หรือเป็นสัญญาณว่าจะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีในปีหน้าหรือหลังจากนี้ นายพิธา มองว่า คำว่าปรับเปลี่ยนทิศทาง น่าจะเหมาะสมกว่าคำว่าการหาทางลง การหาทางลงเป็นสิ่งที่ประเทศไม่ได้ต้องการในตอนนี้ แต่การปรับเปลี่ยนท่าที ทิศทางการทำงานอย่างมีเป้าหมาย และมีความเป็นมืออาชีพ ก็น่าจะทำให้สถานการณ์ต่างๆ ที่ดูแล้วเป็นโจทย์ร้อนในปีหน้าเบาบางลงได้ หวังว่าจะมีการปรับเปลี่ยนตามข้อเสนอแนะ

เมื่อถามว่า จะมีการเปลี่ยนตัวนายกฯ เป็นน.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ดูแล้วไม่ใช่เป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องทำตอนนี้ ให้โอกาสนายกฯ ได้มีโอกาสทำงานอย่างเต็มที่ก่อน

ส่วนจะให้เวลารัฐบาลทำงานเท่าไร ก่อนที่จะมีการยื่นญัตติอภิปราย นายพิธา คาดว่าคงจะยื่นในช่วงไตรมาสที่ 1 หรือ 2 ขึ้นอยู่กับผลการชี้แจง พ.ร.บ.งบประมาณ ที่เข้ามาก่อนอยู่แล้ว จะใช้โอกาสนั้นชำแหละงบประมาณที่ตรงกับสิ่งที่ก้าวไกลเสนอเรื่องวิสัยทัศน์ และเป้าหมายหรือไม่ และการชี้แจงคำถามของฝ่ายค้าน ถ้าทำได้ไม่ดี คงยื่นมาตรา 151 และเรายังคงดำเนินการกับการใช้งบประมาณไม่ถูกต้องหรือทุจริต เราทำเรื่อย ๆ อาจอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ขึ้นอยู่กับการทำงานของรัฐบาลต้นปีหน้า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ธ.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top