เมตาซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก และติ๊กต๊อกของจีน ได้จำกัดจำนวนโพสต์และบัญชีบนโซเชียลมีเดียในประเทศมาเลเซียสูงเป็นประวัติการณ์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 ท่ามกลางคำขอที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากรัฐบาลมาเลเซียให้ลบเนื้อหาในแพลตฟอร์มดังกล่าว
ฝ่ายบริหารของนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียซึ่งขึ้นครองอำนาจเมื่อเดือนพ.ย. 2565 บนรากฐานของการปฏิรูปนั้น ได้เผชิญกับข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการผิดคำสัญญาที่จะปกป้องเสรีภาพในการพูด ท่ามกลางการตรวจสอบคอนเทนต์ออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการปิดกั้นความเห็นต่างบนโลกออนไลน์ โดยระบุว่า รัฐบาลต้องการปราบปรามโพสต์เชิงยั่วยุที่เกี่ยวกับเชื้อชาติ ศาสนา และความจงรักภักดี
รายงานด้านความโปร่งใส (Transparency Report) ซึ่งจัดทำขึ้น 2 ครั้งต่อปีในเดือนนี้ระบุว่า ระหว่างเดือนม.ค.-มิ.ย.ปีนี้ เมตาได้ปิดกั้นเพจและโพสต์ต่าง ๆ ราว 3,100 รายการบนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม จากการมองเห็นของผู้ใช้งานในมาเลเซีย เนื่องจากเพจและโพสต์เหล่านี้ถูกรายงานว่าละเมิดกฎหมายท้องถิ่น
ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าช่วงครึ่งหลังของปีก่อนถึง 6 เท่า และสูงที่สุดนับตั้งแต่ที่บริษัทเริ่มเผยแพร่รายงานด้านการจำกัดเนื้อหาในมาเลเซียเมื่อปี 2560
เมตาระบุว่า ระหว่างเดือนก.ค. 2565 ถึงเดือนมิ.ย. 2566 บริษัทได้จำกัดการเข้าถึงเนื้อหามากกว่า 3,500 รายการ เพื่อตอบสนองต่อรายงานของหน่วยงานกำกับดูแลการสื่อสารของมาเลเซียและหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ
เมตาระบุว่า เนื้อหาต่าง ๆ เหล่านั้น รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และโพสต์ที่ละเมิดกฎหมายการพนันที่ผิดกฎหมาย คำพูดแสดงความเกลียดชัง (hate speech) เนื้อหาที่ยุยงให้เกิดความแตกแยกทางเชื้อชาติและศาสนา และการหลอกลวงทางการเงิน
ขณะที่ ติ๊กต๊อกซึ่งเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นของจีนระบุในรายงานที่คล้ายคลึงกันเมื่อเดือนที่แล้วว่า ติ๊กต๊อกได้รับคำร้อง 340 ครั้งจากรัฐบาลมาเลเซียให้ลบหรือปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาระหว่างเดือนม.ค.-มิ.ย. 2566 ซึ่งส่งผลกระทบต่อโพสต์และบัญชีต่าง ๆ จำนวน 890 รายการ
ข้อมูลระบุว่า ติ๊กต๊อกลบหรือปิดกั้นเนื้อหาจำนวน 815 รายการที่ละเมิดกฎหมายท้องถิ่นหรือแนวปฏิบัติของชุมชน ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 6 เดือน นับตั้งแต่ที่เริ่มรายงานเกี่ยวกับคำขอของมาเลเซียในปี 2563 และมากกว่าจำนวนเนื้อหาที่ติ๊กต๊อกลบไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ถึง 3 เท่า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ธ.ค. 66)
Tags: Facebook, TikTok, ติ๊กต๊อก, มาเลเซีย, เฟซบุ๊ก, แพลตฟอร์ม