นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากข่าวเกษตรกรจังหวัดพิจิตรร้องเรียนกรณีข้าวเปลือกหอมมะลิมีราคาตกต่ำ ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวเดือนพ.ย.-ธ.ค. โดยขายเป็นข้าวสดได้ราคา 10,300 บาท/ตัน นั้น ขอชี้แจงว่า ฤดูเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิในฤดูกาลนี้ราคาสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้นไม่เกิน 15% ราคา 13,900-15,500 บาท/ตัน (เกี่ยวสด 10,800-12,000 บาท/ตัน) และปัจจุบันข้าวเปลือกหอมมะลิออกสู่ตลาดหมดแล้ว
ทั้งนี้ ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว และช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิต จำนวน 4 มาตรการ ได้แก่
- โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ให้เกษตรกรเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง หรือฝากไว้ที่สหกรณ์ โดยช่วยค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท กรณีเกษตรกรฝากเก็บที่สหกรณ์ สหกรณ์จะได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,000 บาท เกษตรกรได้รับ ตันละ 500 บาท
- โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะให้สินเชื่อกับสถาบันเกษตรกร ซึ่งรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยอัตรา 3.85% และสถาบันฯ รับภาระดอกเบี้ยอัตรา 1%
- โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก รัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตรา 4%
- โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต และช่วยให้เกษตรกรมีกำลังใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวมากขึ้น
“จากการดำเนินการดังกล่าว ช่วยให้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิที่เกษตรกรขายได้ในปีนี้ ยังอยู่ในระดับสูงกว่าปีที่ผ่านมา” รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุ
นายอุดม กล่าวว่า กรมการค้าภายใน ได้เพิ่มการติดตามดูแลการซื้อขายข้าวเปลือก ทั้งในเรื่องของการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ รวมทั้งตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องชั่งน้ำหนักและเครื่องวัดความชื้น ซึ่งหากพบเห็นว่าท่าข้าวหรือโรงสีใด ไม่ปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ กดราคารับซื้อ โกงน้ำหนัก หรือมีพฤติกรรมใดๆ ที่เป็นการเอาเปรียบชาวนา สามารถร้องเรียนได้ที่ สายด่วนกรมการค้าภายใน โทร 1569
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ธ.ค. 66)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, ข้าวหอมมะลิ, ชาวนา, ราคาข้าว