MGI พุ่ง 71.72% หรือเพิ่มขึ้น 3.55 บาท มาปิดเทรดวันแรกที่ 8.50 บาท จากราคา IPO 4.95 บาท มูลค่าการซื้อขาย 1,329.39 ล้านบาท จากราคาเปิด 6.25 บาท ราคาสูงสุด 8.50 บาท ราคาต่ำสุด 6.20 บาท
บมจ.ทิสโก้ ระบุว่า บมจ.มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MGI) จากการประเมินมูลค่าเบื้องต้นด้วยวิธี PER เฉลี่ยของผู้ประกอบธุรกิจใกล้เคียงกันใน SET (GRAMMY,JKN,RS) ที่ 12.76 เท่า พบว่ามูลค่า ณ ราคา IPO ยังคงมี upside
MGI ดำเนินธุรกิจจัดการประกวดนางงามมิสแกรนด์เพื่อเสริมสร้างชื่อเสียงให้บริษัทเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ สำหรับต่อยอดในการดำเนินธุรกิจเชิงพาณิชย์ โดยธุรกิจของบริษัท สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) ธุรกิจพาณิชย์ (Commerce) ภายใต้แบรนด์สินค้า Nangngam, Miss Grand, MGI 2) ธุรกิจประกวดนางงามมิสแกรนด์ (Pageant) 3) ธุรกิจสื่อและบันเทิง (Media and X-Periences) และ 4) ธุรกิจบริหารจัดการศิลปิน (Talent) โดยตั้งเป้าหมายให้มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจพาณิชย์ร้อยละ 60 และรายได้จากธุรกิจบริการร้อยละ 40 ซึ่งมีการจำหน่ายสินค้าผ่านการ Live สด บนแพลตฟอร์ม Facebook และ Tiktok รวมทั้งล่าสุดมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัท คาร์มาร์ท จำกัด (มหาชน) (KAMART) คือบริษัท เคเอ็มจีไอ จำกัด (KMGI)
บล.ทิสโก้ เห็นว่า ธุรกิจพาณิชย์ (Commerce) ซึ่งเป็นธุรกิจที่บริษัทตั้งเป้าให้มีสัดส่วนรายได้หลักของบริษัท มีการแข่งขันภายในอุตสาหกรรมที่สูง ทั้งในด้านสินค้าอุปโภคและสินค้าบริโภค เนื่องจากมีสินค้าทดแทนในตลาดจำนวนมาก ทั้งนี้บริษัทใช้ธุรกิจประกวดนางงามและนางงามในสังกัดช่วยส่งเสริมการขายสินค้าและธุรกิจอื่น ซึ่งแตกต่างจากแบรนด์สินค้าอื่น
ขณะเดียวกันธุรกิจประกวดนางงามภายใต้ชื่อ “Miss Grand” ได้รับความนิยมทั้งในและต่างประเทศ และถือเป็นเวทีการประกวดที่เติบโตเร็ว เมื่อเทียบกับอายุของเวทีเพียงแค่ 10 ปี แม้ว่าจะมีเวทีอื่นที่มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน แต่เรามองว่าการได้รับความนิยมและกระแสตอบรับเป็นสิ่งที่สำคัญด้วยเช่นกัน เนื่องจากจะส่งผลต่อเนื่องไปยังธุรกิจอื่นของบริษัท ดังนั้นการระดมทุนตามวัตถุประสงค์เพื่อต่อยอดธุรกิจพาณิชย์ (Commerce) จึงมีความเหมาะสม แต่มีปัจจัยและโครงการในอนาคตที่ต้องติดตามต่อไป โดยเฉพาะเรื่องการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่สูง
รายได้หลักของบริษัทในปัจจุบันมาจากธุรกิจพาณิชย์ (Commerce) ราวร้อยละ 40 ซึ่งยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายของบริษัทที่ร้อยละ 60 และมีสัดส่วนที่ลดลงอย่างมากตั้งแต่ปี 65 เป็นต้นมา จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง แต่ทั้งนี้รายได้ของบริษัทมีการเติบโตอย่างมากในปี 66 จากธุรกิจสื่อบันเทิง และธุรกิจบริหารจัดการศิลปิน รวมทั้งมีรายได้จากการให้เช่าช่วง MGI Hall เพิ่มเข้ามา โดยใน ไตรมาส 4/66 จะมีรายได้จากการจัดประกวด Miss Grand International เข้ามาในธุรกิจประกวดนางงาม นอกจากนี้ในช่วง ไตรมาส 4/66 ถึงไตรมาส 1/67 เป็นช่วงที่มีการจัดกิจกรรมอีเว้นท์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาล จึงคาดว่ารายได้ธุรกิจประกวดนางงามและบริหารจัดการศิลปินจะขยายตัวมากขึ้น ขณะเดียวกันธุรกิจพาณิชย์ (Commerce) จะเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่องหลังจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ ซึ่งส่งผลให้รายได้โดยรวมขยายตัวขึ้นในปีนี้
มองว่าในระยะข้างหน้า อัตรากำไรสุทธิของบริษัทจะถูกกดดันจากค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เพิ่มขึ้นสำหรับการขายสินค้าและขยายธุรกิจ ทั้งบุคลากร การพัฒนาสินค้า และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขัน แม้ว่ารายได้จะขยายตัวขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจพาณิชย์ (Commerce) ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงสุดเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น และในปี 66 มีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการขายผ่านช่องทาง TikTok แต่ค่าธรรมเนียมและการใช้บริการและส่วนแบ่งการขายร้อยละ 8 และ 15 ของยอดขาย ตามลำดับ ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เพิ่มขึ้น ทำให้อัตรากำไรสุทธิใกล้เคียงเดิม
ปัจจัยที่ต้องติดตาม : 1) การรักษาสัดส่วนรายได้ในธุรกิจพาณิชย์ (Commerce) 2) ความคืบหน้าการขายน้ำพริกปลาดุกผัดพริกให้กลุ่มผู้ค้าส่งรายใหญ่ 3) การทำรายการประจำถ่ายทอดบน Youtube 3) การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าของบริษัท 4) สินค้าที่ออกจำหน่ายภายใต้บริษัทร่วม KMGI
ความเสี่ยง : 1) การพึ่งพิงความนิยมหรือชื่อเสียงของศิลปินนางงาม 2) การพึ่งพิงผู้ผลิตสินค้า 3) การพึ่งพิงธุรกิจประกวดนางงาม 4) การแข่งขันที่สูง 5) ความผันผวนของผลประกอบการ 6) การเปลี่ยนแปลงความนิยมจากผู้ชม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ธ.ค. 66)
Tags: MGI, มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล, หุ้นไทย