สื่อชี้ AI ขึ้นแท่นตัวช่วยมาแรงในวงการคอนเทนต์เกาหลีใต้ หนุนผลิตการ์ตูน-ละครทีวี

บรรดาบริษัทสตาร์ตอัปและบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่กำลังใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) ในการช่วยให้สตูดิโอการ์ตูนและสตูดิโอด้านความบันเทิงของเกาหลีใต้สามารถดำเนินการผลิตได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และสร้างโอกาสใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

โอโนมา เอไอ (Onoma AI) ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการผลิตภาพด้วยการใช้คำสั่งภาษาธรรมชาติและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เชิงรู้สร้าง (Generative AI) กล่าวว่า กำลังร่วมมือกับเคนาซ (Kenaz) ซึ่งเป็นสตูดิโอขนาดกลาง ด้วยการใช้เครื่องมือทูตูน (TooToon) เพื่อช่วยสตูดิโอในการสร้างเรื่องย่อและสตอรี่บอร์ด

“เคนาซกล่าวว่าทูตูนใช้งานได้ดี เพราะสามารถช่วยให้ศิลปินออกแบบเรื่องราวในช่วงแรก ๆ ได้ ซึ่งแตกต่างจากเครื่องมืออื่น ๆ ที่เพียงแค่ช่วยลดภาระแรงงานเท่านั้น” นางจอย ซง ผู้อำนวยการของโอโนมา เอไอ กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวนิกเกอิ เอเชีย พร้อมเสริมว่า “เรากำลังพัฒนาเทคโนโลยีของเรา ด้วยการให้เครื่องมือเรียนรู้ข้อมูลตัวละครเพิ่มเติม”

เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา โอโนมา เอไอ ได้เปิดตัวการ์ตูนออนไลน์เรื่อง “A Devil Student” โดยร่วมมือกับศิลปินหน้าใหม่อย่างคุณเซฮยอน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถของเทคโนโลยีของบริษัท

รายงานระบุว่า การ์ตูนออนไลน์หรือเว็บตูน (Webtoon) กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐ และประเทศอื่น ๆ โดยเกาหลีใต้เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ และมีบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหญ่อย่างเนเวอร์ (Naver) และกาเกา (Kakao) เป็นผู้เผยแพร่เว็บตูนบนแพลตฟอร์มของตน ซึ่งนำเสนอเรื่องราวที่หลากหลาย ตั้งแต่แนวโรแมนติก ไปจนถึงแนวระทึกขวัญ

เนเวอร์ เว็บตูน ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการ์ตูนออนไลน์ของเนเวอร์ ได้นำเสนอเครื่องมือเอไอ เพนเตอร์ (AI Painter) ของตนให้กับเหล่าครีเอเตอร์ โดยระบุว่าเครื่องมือนี้จะสามารถลดเวลาการทำงานลงได้ 50%

นางนา อูนา โฆษกของเนเวอร์กล่าวว่า “การวาดการ์ตูนต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ด้วยเทคโนโลยีเอไอนั้น เราสามารถช่วยให้ครีเอเตอร์สามารถสร้างงานง่าย ๆ ได้ เช่น การวาดภาพพื้นหลังหรือการสร้างเงา”

ทั้งนี้ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เชิงรู้สร้างไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การสร้างการ์ตูนเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ในการสร้างละครและภาพยนตร์ได้ด้วยเช่นกัน โดยเล็ตเซอร์ (Letsur) บริษัทสตาร์ตอัปที่เชี่ยวชาญด้านบริการเอไอสำหรับลูกค้าระดับองค์กร ได้ร่วมมือกับซีเจ อีแอนด์เอ็ม (CJ ENM) สตูดิโอภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ ในการสร้างภาพปกวิดีโอหรือภาพตัวอย่างสำหรับละครโทรทัศน์เรื่อง Guardian: The Lonely And Great God

นอกจากนี้ เล็ตเซอร์ยังใช้แชตจีพีที-4 (ChatGPT-4) ของโอเพนเอไอ (OpenAI) ในการทำงาน รวมทั้งใช้ร่างเรื่องย่อและสคริปต์สำหรับภาพยนตร์และละครโทรทัศน์บางเรื่อง แต่ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลชื่อเรื่อง เนื่องจากต้องรักษาความลับของลูกค้า

การเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมคอนเทนต์กำลังปูทางไปสู่การใช้เอไอในวงกว้างมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การซื้อขายการ์ตูนออนไลน์ของเนเวอร์ในตลาดทั่วโลกเพิ่มขึ้น 5% ในช่วงไตรมาส 3/2566 เมื่อเทียบรายปี โดยมีมูลค่าแตะ 4.749 แสนล้านวอน (367 ล้านดอลลาร์)

“กิจกรรมของลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับอานิสงส์จากภาพยนตร์และละครดังที่ดัดแปลงมาจากการ์ตูน นอกจากนี้แล้ว คำแนะนำจากเอไอก็ยังเป็นปัจจัยที่ช่วยเพิ่มรายได้อีกด้วย” เนเวอร์ระบุในการรายงานผลประกอบการของบริษัท

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผลลัพธ์ในเชิงบวก แต่ก็ใช่ว่าทุกฝ่ายจะเห็นด้วยกับการใช้เอไอในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ โดยบางส่วนแย้งว่าความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ควรเป็นจุดศูนย์กลางของงาน อีกทั้ง เมื่อเดือนพ.ค. ผู้อ่านบางส่วนให้เรตติ้งในระดับต่ำสำหรับการ์ตูนที่สงสัยว่าถูกสร้างขึ้นโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์เชิงรู้สร้าง

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ธ.ค. 66)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top