นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง มีกำหนดเดินทางเพื่อร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น (The Commemorative Summit for the 50th Year of ASEAN-Japan Friendship and Cooperation) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 14-18 ธันวาคม 2566
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะได้แสดงวิสัยทัศน์ที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศไทย และเป็นประโยชน์ร่วมกันในภูมิภาค นายกรัฐมนตรีตั้งใจจะใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดจากโอกาสการพบปะกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายคิชิดะ ฟูมิโอะ (H.E. Mr. Kishida Fumio) ในส่วนของทางเศรษฐกิจ เชิญชวนญี่ปุ่นให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคและไทย โดยเฉพาะการเติบโตสีเขียว การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และดิจิทัล
รวมถึงประชาสัมพันธ์นโยบาย และโครงการสำคัญของไทย เช่น Landbridge การพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า และ soft power รวมทั้งในทางการเมือง โน้มน้าวให้ญี่ปุ่นเพิ่มบทบาทเชิงสร้างสรรค์กับอาเซียนเพื่อลดความขัดแย้ง ลดการเผชิญหน้า และร่วมกันส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่สงบ สันติมีเสถียรภาพ ซึ่งเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะนำเสนอศักยภาพของประเทศไทยในกรอบการค้าการลงทุนที่น่าสนใจ โดยจะได้พบหารือกับสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren) พบหารือกับประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan External Trade Organization: JETRO) และพบหารือกับบริษัทเอกชนสำคัญระดับโลกของญี่ปุ่น โดยแบ่งเป็น อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลการเกษตร ธุรกิจการค้า
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม กล่าวว่า จะร่วมคณะกับนายกรัฐมนตรีเดินทางไปยังกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยเตรียมนำข้อมูลโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (Landbridge) ไปโรดโชว์กับนักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งมีบริษัทญี่ปุ่นให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมพบปะจำนวนมากกว่า 10 บริษัทแล้ว โดยเป็นการนำเสนอโครงการแลนด์บริดจ์ ในรูปแบบเดียวกับการโรดโชว์กับนักลงทุนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนพ.ย.66 ในช่วงที่ได้ร่วมเดินทางกับคณะนายกรัฐมนตรีไปประชุมสุดยอดกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิกหรือเอเปก (APEC) ซึ่งมีนักลงทุนสหรัฐฯ เข้าร่วมหารือกว่า 20 บริษัท และยังมี นักลงทุนในหลายประเทศมีความสนใจ เช่น สหภาพยุโรป ฝรั่งเศส จีน และตะวันออกกลาง เป็นต้น ซึ่งจะมีแผนโรดโชว์ต่อไป
เบื้องต้นมีกำหนดที่จะพบปะนักลงทุนญี่ปุ่นในวันที่ 18 ธ.ค. 66 โดยขณะนี้มีบริษัทญี่ปุ่น เข้าลงทะเบียนเพื่อรับฟังข้อมูลโครงการ Landbridge แล้ว 19 บริษัท ประกอบด้วย
1. กลุ่มให้บริการเดินเรือและโลจิสติกส์ 5 บริษัท ได้แก่ Yusen Logistics Co., Ltd., Nippon Express Holdings, Inc., Japan freight Railway Company, MITSUI O.S.K. LINES, LTD., MOL Logistics Co., Ltd.
2.กลุ่มอุตสาหกรรม 6 บริษัท ได้แก่ Takeda Pharmaceuticals, EPS Corporation, IHI Corporation, Marubeni Corporation, Osaka Gas Co., Ltd., Toyama New Industry Organization
3. กลุ่มธนาคารและธุรกิจประกันภัย 4 บริษัท Sumitomo Mitsui Banking Corporation, Mizuho Bank, Ltd., MUFG Bank, Tokio Marine & Nichido Fire Insurance
4. กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา 3 บริษัท ได้แก่ Nippon Koei Co. Ltd. และ Pacific Consultants Co., Ltd.และ HAYA CORPORATION
5. กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ Daiwa House Industry
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ธ.ค. 66)
Tags: ชัย วัชรงค์, ญี่ปุ่น, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, เศรษฐา ทวีสิน