ราคาเนื้อสุกรที่ปรับตัวลงในจีนทำให้จีนเข้าใกล้ภาวะเงินฝืดมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจจีนที่เผชิญภาวะชะลอตัวอยู่แล้วยากลำบากกว่าเดิม โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อย่างเป็นทางการแสดงให้เห็นว่า ปัญหาเนื้อสุกรล้นตลาดส่งผลให้ราคาค้าปลีกเนื้อสุกรในจีนร่วงลง 31.8% ในเดือนพ.ย. เทียบกับปีก่อนหน้า
นักวิเคราะห์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า ราคาเนื้อสุกรที่ปรับตัวลงจะเพิ่มความเสี่ยงเรื่องภาวะเงินฝืดให้กับจีน หลังจากภาวะเงินฝืดเริ่มก่อตัวขึ้นในจีนมาสักพักแล้ว เนื่องจากเนื้อสุกรคิดเป็นสัดส่วนขนาดใหญ่ในการคำนวณดัชนี CPI ของจีน
เงินฝืดซึ่งเชื่อมโยงกับการปรับตัวลงของราคาสินค้าและบริการ พร้อมทั้งเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจอ่อนแอลงนั้น เป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวล เพราะกลุ่มผู้บริโภคอาจชะลอการลงทุนหรือการซื้อจากความหวังที่ว่า ราคาสินค้าอาจปรับตัวลงอีก
“นอกเหนือไปจากราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวลงและการลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภค อีกปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้จีนเผชิญภาวะเงินฝืดก็คือราคาเนื้อสุกรที่ลดลง” นายชอว์น เรน กรรมการผู้จัดการของบริษัทไชน่า มาร์เก็ต รีเสิร์ช กรุ๊ประบุ
ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนลดลง 0.5% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดในรอบ 3 ปี
ทั้งนี้ อาหารคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของตะกร้าดัชนี CPI ของจีน โดยเนื้อสุกรคิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดในหมวดอาหารในตะกร้าดัชนี CPI ของจีน และส่งผลกระทบต่อดัชนี CPI ของจีนมากที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างราคาเนื้อสุกรและดัชนี CPI ของจีน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ธ.ค. 66)
Tags: CPI, จีน, ดัชนีราคาผู้บริโภค, ภาวะเงินฝืด, ราคาเนื้อสุกร, เศรษฐกิจจีน