คณะลูกขุนศาลรัฐบาลกลางสหรัฐตัดสินว่า แอปพลิเคชันแอนดรอยด์บนกูเกิล เพลย์สโตร์ (Google Play Store) ของบริษัทกูเกิลได้รับประโยชน์จากการผูกขาดตลาด ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ผู้บริโภคและนักพัฒนาแอปพลิเคชัน โดยคำตัดสินดังกล่าวถือเป็นการสร้างผลกระทบครั้งใหญ่ต่อธุรกิจของกูเกิล
ทั้งนี้ คณะลูกขุนมีคำตัดอย่างเป็นเอกฉันท์ในวันจันทร์ตามเวลาสหรัฐ (11 ธ.ค.) หลังจากการไต่สวนเพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น
การไต่สวนดังกล่าวมีขึ้นหลังมีการพิจารณาคดีในชั้นศาลเกี่ยวกับการชำระเงินบนเพลย์สโตร์ของกูเกิล ซึ่งการพิจารณาคดีดำเนินการมาเป็นเวลา 4 สัปดาห์ โดยเพลย์สโตร์ เป็นแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้หลายร้อยล้านคนทั่วโลกโหลดมาใช้งานบนสมาร์ตโฟนที่ขับเคลื่อนด้วยแอนดรอยด์
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า เอปิค เกมส์ (Epic Games) บริษัทผู้ผลิตเกมชื่อดังอย่าง ฟอร์ทไนท์ (Fortnite) ได้ยื่นฟ้องร้องกูเกิลเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยกล่าวหาว่ากูเกิลใช้อำนาจในทางที่ผิดเพื่อปกป้องเพลย์สโตร์จากการแข่งขัน ซึ่งเพลย์สโตร์เป็นแหล่งสร้างรายได้แห่งสำคัญที่ทำเงินได้หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละปี
กูเกิลจะเรียกเก็บค่าคอมมิชชันตั้งแต่ 15% ถึง 30% สำหรับการทำธุรกรรมดิจิทัลบนแอปพลิเคชัน เช่นเดียวกับที่แอปเปิ้ลดำเนินการในแอปสโตร์ (App Store) สำหรับไอโฟน (iPhone)
ในปี 2564 เอปิค เกมส์ ได้ฟ้องร้องแอปสโตร์ ในคดีที่คล้ายคลึงกัน แต่แอปเปิ้ลเป็นฝ่ายชนะ อย่างไรก็ตาม คำตัดสินดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาของสหรัฐ
ในกรณีของเพลย์สโตร์นั้น คณะลูกขุน 9 คนมีมุมมองที่แตกต่างออกไป แต่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แม้ว่าในทางเทคนิคแล้ว กูเกิลจะอนุญาตผู้ใช้ดาวน์โหลดแอปฯจากร้านค้าอื่น ๆ ได้ ซึ่งเป็นตัวเลือกที่แอปเปิ้ลไม่อนุญาตให้ทำได้บนไอโฟน
ก่อนที่การพิจารณาคดีเพลย์สโตร์จะเริ่มต้นขึ้นนั้น กูเกิลได้พยายามป้องกันไม่ให้คณะลูกขุนเป็นผู้ตัดสิน แต่นายเจมส์ โดนาโต ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นของสหรัฐ ปฏิเสธคำขอดังกล่าว โดยขณะนี้ผู้พิพากษาโดนาโตจะเป็นผู้รับผิดชอบในการตัดสินใจว่ากูเกิลจะต้องดำเนินมาตรการใดเพื่อแก้ไขการกระทำที่ผิดกฎหมายในเพลย์สโตร์ โดยประเด็นนี้มีกำหนดนำขึ้นพิจารณาในชั้นศาล ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนม.ค. 2567
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ธ.ค. 66)
Tags: Google Play Store, ผูกขาดตลาด, ศาลสหรัฐ, สหรัฐ, แอนดรอยด์, แอปพลิเคชัน