นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล กรณีที่พรรคเพื่อไทยมีแนวคิดในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 โดยขัดกับคำวินิจฉัยเดิมของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นช่องทางในการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า จุดยืนของพรรคก้าวไกล เห็นว่าสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจโดยสมบูรณ์ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อให้มี สสร. แล้วคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ถ้าอ่านดีๆ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยบอกว่าต้องทำ แต่แนะนำให้ทำประชามติก่อนเท่านั้นเอง
“พรรคก้าวไกล เสนอให้ทำประชามติแต่แรก ไม่ใช่เพราะคำวินิจฉัยหรือการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เพราะเห็นว่ามีประโยชน์ทางการเมือง อย่าลืมว่าถ้าจะแก้ไขมาตรา 256 ต้องผ่านเสียง 1 ใน 3 ของ สว. ด้วย แล้ว สว. ที่ผ่านมาก็มีจุดยืนชัดว่า ถ้าจะแก้ไขมาตรา 256 ให้มี สสร. มาทำใหม่ทั้งฉบับ ก็ควรจะต้องทำประชามติ เราเลยคิดว่าทำเลยตั้งแต่แรก ไม่เสียเวลาทำจนติดขั้น สว. จะเป็นการเสียโอกาส”
นายชัยธวัช กล่าวว่า อาจมองได้ว่า การไปถามศาลรัฐธรรมนูญก่อน อาจเป็นการเพิ่มความชัดเจนให้กับการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ได้ อย่าไปมองเพียงมิติเดียว แต่ว่าในแง่หนึ่ง มันอาจทำให้เราใช้ระยะเวลามากจนเกินไป และอย่าไปทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นทุกอย่าง เป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ คิดว่าเราใช้คำวินิจฉัยของเราเองได้ ประเด็นสำคัญไม่ใช่อยู่ที่รัฐธรรมนูญ หรือการตีความของศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียว อยู่ที่ว่าเราจะหาแนวทางที่จะได้รับเสียง สว. เกิน 1 ใน 3 ได้อย่างไร ซึ่งประชามติครั้งแรกเราใช้คำตัดสินของพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่มาทำให้ สว. ยอมรับได้ คิดว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ
นายชัยธวัช กล่าวว่า เราใช้โอกาสในการทำประชามติครั้งแรก สามารถหาฉันทามติร่วมของประชาชนได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยหรือไม่ เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้กับข้อเสนอที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มี สสร. และมีประเด็นบางประเด็นที่เราอาจมีความคิดเห็นแตกต่างกันในสังคม ก็สามารถใส่เป็นคำถามพ่วงในประชามติได้ เพื่อหาข้อยุติในความคิดเห็นแตกต่างกันได้โดยกระบวนการทางประชาธิปไตย
นายชัยธวัช กล่าวถึงคำถามพ่วงที่เห็นต่างกับรัฐบาลว่า ข้อเสนอเรื่องคำถามพ่วง มาจากจุดยืนของพรรคก้าวไกลที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างแท้จริง ดังนั้น เราไม่อยากให้ออกแบบคำถามหลักในการถามประชามติที่ใส่เงื่อนไขยิบย่อย จนทำให้ประชาชนที่เห็นด้วยกับการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขยิบย่อย มาโหวตโน หรือโนโหวต ดังนั้น ถ้าเราอยากเห็นการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จริง คำถามหลักควรเป็นคำถามกว้าง และมีจุดร่วมมากที่สุด ส่วนประเด็นที่มีความแตกต่างกัน ก็มาถามย่อย ส่วนจะถามอะไรก็มีเวลาหารือกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ธ.ค. 66)
Tags: ชัยธวัช ตุลาธน, ประชามติ, ม.256