ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาประมาณ 400 คนเกยตื้นชายหาดจังหวัดอาเจะฮ์ ในอินโดนีเซีย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ชาวโรฮีนจาประมาณ 400 คนเดินทางถึงจังหวัดอาเจะฮ์ของอินโดนีเซียในวันนี้ (10 ธ.ค.) ด้วยเรือทรุดโทรม 2 ลำ ตามคำยืนยันจากหัวหน้าชุมชนประมงประจำจังหวัด

ก่อนเดินทางมาถึงในวันนี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุว่า มีชาวโรฮีนจา 1,200 คน ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่ถูกกดขี่ข่มเหงในเมียนมา ได้ขึ้นฝั่งในอินโดนีเซียตั้งแต่เดือนพ.ย.

นายมิฟตาห์ คัท อาเด หัวหน้าชุมชนประมงในอาเจะฮ์ กล่าวว่า เรือ 2 ลำเข้าเทียบท่าในจังหวัดในช่วงเช้าวันนี้ โดยลำหนึ่งไปอำเภอปีดี อีกลำไปอำเภออาเจะฮ์เบอซาร์ เรือแต่ละลำบรรทุกชาวโรฮีนจาประมาณ 200 คน

นายอันดี ซูซานโต เจ้าหน้าที่ทหารท้องถิ่น กล่าวว่า ชาวโรฮีนจาประมาณ 180 คน เดินทางมาถึงอำเภอปีดีเมื่อเวลา 04.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่กำลังประสานงานในพื้นที่เพื่อรวบรวมข้อมูล นายซูซานโตยืนยันว่ากองทัพทหารทราบเรื่องเรือลำที่สอง แต่ไม่มีข้อมูลว่าเรือลำดังกล่าวจอดที่ไหนหรือมีผู้โดยสารกี่คน

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ (8 ธ.ค.) ว่า เขาสงสัยว่าการค้ามนุษย์อาจเป็นสาเหตุของการเพิ่มขึ้นของเรือที่เดินทางมาถึงในช่วงนี้ และสัญญาว่าจะทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศเพื่อจัดการกับปัญหานี้

แม้ว่าอินโดนีเซียจะไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาปี พ.ศ. 2494 ว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย แต่ก็มีประวัติการต้อนรับผู้ลี้ภัยที่เดินทางมาถึงชายฝั่งของประเทศ อย่างไรก็ดี จำนวนผู้อพยพที่มาถึงจำนวนมากในช่วงหลังนี้ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านบนโซเชียลมีเดียและมีเสียงคัดค้านจากประชาชนในอาเจะฮ์ ซึ่งเป็นจังหวัดทางตะวันตกสุดของประเทศที่เรือส่วนใหญ่แล่นเข้าฝั่ง

ทั้งนี้ ชาวโรฮีนจามักถูกปฏิเสธสัญชาติเมียนมา ถูกทารุณกรรม และถูกคนเมียนมาที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธมองว่าเป็นผู้บุกรุกชาวต่างชาติจากเอเชียใต้ ส่งผลให้ตลอดหลายปีที่ผ่านมาชาวโรฮีนจาแห่อพยพออกจากเมียนมาด้วยเรือไม้ไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย ตลอดจนประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมอย่างบังกลาเทศ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยเฉพาะในช่วงที่ทะเลสงบระหว่างเดือนพ.ย.-เม.ย.

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ธ.ค. 66)

Tags: ,
Back to Top