กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ปิดจ็อบสอบสวนทุจริต บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ทางคดีมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา รวม 11 คน ในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา และฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดี DSI รักษาราชการในตำแหน่งอธิบดี กล่าวในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดี STARK ว่า วันนี้คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ได้ส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษไปยังพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษแล้ว หลังจากอธิบดี DSI มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาจำนวน 11 ราย พร้อมมอบเอกสารพยานหลักฐานทั้งสิ้นจำนวน 22 ลัง 140 แฟ้ม 52,968 แผ่น
นอกจากการดำเนินคดีอาญาแล้ว คณะพนักงานฯ พบว่ามีการนำเงิน 10,000 ล้านบาทโอนเข้ากลุ่มบริษัทของผู้ต้องหาเพื่อไปชำระหนี้เจ้าหนี้การค้า รวมทั้งยักย้ายถ่ายเทเข้าบัญชีส่วนตัวอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งได้ส่งข้อมูลให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันการฟอกเงิน (ปปง.) ติดตามยึดทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 49 วรรคท้าย ต่อไป
อนึ่ง กรณีการทุจริตใน STARK นั้น DSI รับเป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 มีผู้เสียหายทั้งสิ้นจำนวน 4,704 ราย มูลค่าความเสียหายจำนวน 14,778,000,000 ล้านบาท (คดีพิเศษที่ 57/2566)
ส่วนคดีหุ้น บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) พบว่ามีกลุ่มบุคคลรวม 32 รายร่วมกันสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE อย่างต่อเนื่อง ในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ มีมูลค่าความเสียหายประมาณ 800 ล้านบาท(คดีพิเศษที่ 66/2566) คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและพนักงานสอบสวนกองบัญชาการสอบสวนกลางที่ได้มาปฏิบัติหน้าที่ใน DSI เพื่อช่วยเหลือในการสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษ ตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 โดยได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหา 29 ราย และแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหาแล้วจำนวน 10 ราย และอยู่ระหว่างเร่งรัดตรวจสอบเส้นทางการเงิน เพื่อนำมาตรการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาดำเนินการต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ธ.ค. 66)
Tags: DSI, STARK, กรมสอบสวนคดีพิเศษ, ทุจริต, ยุทธนา แพรดำ, สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น