นายจุลพงษ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เปิดเผยว่า ตนได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทของรัฐบาลเพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยเสนอข้อเท็จจริงให้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ทราบประกอบการพิจารณาข้อกฎหมาย หลังกระทรวงการคลังจะส่งหนังสือไปสอบถามความคิดเห็น
โดยเฉพาะข้อกฎหมายมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 ซึ่งมีเงื่อนไขสำคัญทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับความจำเป็นเร่งด่วน และวิกฤตที่มีการโต้เถียงกันมาก รวมถึงกรณีที่ไม่สามารถตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน ซึ่งต้องครบองค์ประกอบ 2 ข้อนี้ก่อนจึงจะเป็นการกู้เงินตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 ได้
ส่วนตัวเห็นว่าการเสนอ พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทของรัฐบาลที่แยกออกมาจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ไม่เข้าเงื่อนไขสำคัญตามมาตรา 53 อีกทั้งร่างกฎหมาย พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จะเข้าสู่วาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลยังมีเวลานำเงินกู้ 5 แสนล้านบาทไปใส่ในร่างกฎหมายงบประมาณปี 67 ได้ทัน แต่ตนไม่ได้เสนอความเห็นให้กฤษฎีกาเกี่ยวกับความจำเป็นเร่งด่วนวิกฤตเศรษฐกิจหรือไม่ เพราะส่วนตัวเห็นด้วยกับเลขาธิการกฤษฎีกาว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่มีหน้าที่ตอบรัฐบาลว่าขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศไทยมีภาวะจำเป็นเร่งด่วนและวิกฤต ถึงขนาดต้องกู้เงิน 5 แสนล้านบาทหรือไม่ อย่างไรก็ตามจะติดตามเรื่องนี้จากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป
ห่วงแก้หนี้นอกระบบไม่สำเร็จ
นอกจากนี้ ขอชื่นชมโครงการแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาล แต่ขอแสดงความเห็นว่า การให้ลงทะเบียนลูกหนี้โดยเปิดเผยนั้น ในทางปฏิบัติไม่เกิดผลสำเร็จ เพราะหนี้นอกระบบทั้งหมดคิดอัตราดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดซึ่งผิดกฎหมาย ถ้าเจ้าหนี้นอกระบบเปิดเผยตัวเอง เท่ากับยอมรับผิดกฎหมายอาญา ลูกหนี้นอกระบบจะกลายเป็นผู้เสียหาย เจ้าหนี้นอกระบบจะกลายเป็นจำเลย และยังไม่นับเรื่องการหวาดเกรงอิทธิพลเจ้าหนี้นอกระบบ
ตนเชื่อว่า การลงทะเบียนไม่ได้ผล และตลอด 7 วันที่ผ่านมามีการลงทะเบียนจำนวนที่น้อยมาก มูลหนี้กว่า 3,000 ล้านบาท แต่สำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า มีหนี้ครัวเรือนมากกว่า 3 ล้านล้านบาท หนี้นอกระบบกว่า 8 แสนครัวเรือน จึงขอตั้งคำถามไปยังรัฐบาลว่า จะแก้ปัญหาอย่างไร พร้อมกันนี้ยังเสนอให้รัฐบาลทำควบคู่ไปกับการลงทะเบียนการไกล่เกลี่ยหนี้ นิรโทษกรรมให้เจ้าหนี้นอกระบบ ที่สามารถเจรจาลูกหนี้โดยผ่านกลไกของรัฐได้
อีกทั้งขั้นตอนทางราชการทำให้ลูกหนี้ต้องแบกรับดอกเบี้ยนอกระบบไปอีก 3 เดือน ซึ่งอาจมากกว่าเงินต้น จึงขอเสนอแก้หนี้นอกระบบภาพรวมอย่างยั่งยืนคือ รัฐบาลควรสร้างกลไกธุรกิจกับนายทุนหนี้นอกระบบ ใช้ธนาคารเปิดกองทุนกำหนดดอกเบี้ยต่ำ โดยประชาชนเข้าถึงกลุ่มแหล่งเงินกู้รายย่อยได้ ให้รัฐบาลมาเป็นตัวช่วยด้วยการค้ำประกันหนี้ และให้รัฐบาลสร้างช่องทางหารายได้ให้ประชาชน มีการจ้างงาน มีค่าแรงรายชั่วโมงเพื่อให้คนทำงานประจำหารายได้เพิ่ม หลังเวลาเลิกงานหรือวันหยุด โดยไม่กระทบงานประจำ และขอให้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบด้าน ก่อนแถลงโครงการต่างๆเพราะเกรงจะแก้ปัญหาไม่ได้ แล้วจะเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้ลูกหนี้นอกระบบ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ธ.ค. 66)
Tags: กระทรวงการคลัง, คณะกรรมการกฤษฎีกา, จุลพงษ์ อยู่เกษ, พรรคก้าวไกล, หนี้นอกระบบ