นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนาแถลงแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2567 ในหัวข้อ”นโยบายและทิศทางการพัฒนาตลาดทุนไทย”ว่า ปัจจัยพื้นฐานของตลาดทุนไทยมีความแข็งแกร่งในระยะยาวและมีความยืดหยุ่นสูง ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหุ้น ซึ่งไทยติดอันดับที่ 27 ของโลก และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน อีกทั้งมีมูลค่าเสนอขายหุ้น IPO สะสมย้อนหลังสูงที่สุดในอาเซียน เช่นเดียวกับสภาพคล่องนับตั้งแต่ปี 2555
ดังนั้น รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ทั้งด้านดิจิทัลและด้านความยั่งยืน ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งระบบตลาดทุน เศรษฐกิจโดยรวม และความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่เศรษกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (ESG economy)
ภาครัฐให้ความเห็นชอบมาตรการสนับสนุน Thailand ESG Fund ที่จะเป็นประโยชน์ ทั้งต่อผู้ระดมทุน ในการต่อยอด สร้างโอกาสทางธุรกิจกิจสู่ความยั่งยืน การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีและต่อผู้มีเงินออมที่มีความสนใจในการลงทุนอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการได้ผลตอบแทนระยะยาว ซึ่ง สำนักงาน ก.ล.ต. คาดว่าจะมี บลจ. ที่เสนอขายกองทุน ThaiESG จำนวน 16 บลจ. และจำนวนกองทุน รวม 25 กองทุน สร้างเม็ดเงินในการระดมทุนไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท จากผู้ลงทุนที่อายุตั้งแต่ 30-60 ปี ไม่น้อยกว่า 100,000 บัญชี และคาดว่าจะ ส่งผลให้เกิดนักลงทุนหน้าใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เพิ่มขึ้นในบ้านเราอีกด้วย
นอกจากนี้ รัฐบาลได้เห็นชอบในหลักการที่จะลดอุปสรรคที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำทางภาษี ซึ่งถ้าแก้ได้ก็จะส่งผลให้การแข่งขันในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเท่าเทียมยิ่งขึ้น ลดภาระแก่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ออกและเสนอขาย รวมทั้งผู้ลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล และยังเป็นการสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการระดมทุน ผ่าน investment token เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
รัฐบาลมีแนวทาง 3 ข้อด้วยกันที่จะเสริมสร้างจุดแข็งของตลาดทุนไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นต่อไป
– แนวทางแรก ที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก คือ การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ผ่านการผลักดันให้ตลาดทุนไทย เป็น investment destination ของภูมิภาค ซึ่งจะเพิ่มการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยรัฐบาล จะเดินหน้าเร่งเจรจา และขยาย Free Trade Agreement (FTA) เปิดตลาดใหม่ ๆ และสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศทางยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา รวมทั้งส่งเสริมการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยให้กับผู้ลงทุนต่างประเทศ ผ่าน ease of doing business
นอกจากนี้ รัฐบาลจะดำเนินการนำเสนอข้อมูลการลงทุนของตลาดหุ้นไทย ผ่าน Road show เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
– แนวทางที่สอง คือ การ shift focus สู่ความยั่งยืน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนทุกภาคส่วน เพื่อเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง สู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainability Development Goals หรือ SDGs เป้าหมายของประเทศไทย ด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2608 ในการดำเนินการสู่ความยั่งยืนนี้ รัฐบาลจะดำเนินการส่งเสริมให้ตลาดทุนไทยพัฒนากลไกให้ภาคธุรกิจ มีเงินทุนเพียงพอ ในการเปลี่ยนผ่าน สู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และให้ธุรกิจขนาดเล็ก เข้าถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยี และมีเงินทุนเพื่อปรับตัวให้พร้อมรับมือกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมต่อไป
นอกจากนี้ ภาครัฐจะดำเนินการผลักดัน นโยบายการกระตุ้นตลาดตราสารหนี้สีเขียว หรือ Green Bond Market การระดมทุนเพื่อสนับสนุน SDGs และนโยบายการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล กลไกการเงินสีเขียว หรือ green finance mechanism โดยได้ตั้งเป้าการออกและเสนอขายตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน หรือที่เรียกว่า “Sustainability-Linked Bond” ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อให้องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินนโยบาย ที่สร้างความยั่งยืน และการจัดทำThailand Green Taxonomy เพื่อส่งเสริมการเติบโต และการลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม
– แนวทางที่สาม คือ การสนับสนุนการระดมทุนของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัล SMEs และ Startups เพื่อให้มีเงินเพียงพอในการดำเนินธุรกิจ เติบโตและขยายต่อไปได้ ในระดับโลก
ภาครัฐจะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ปัญญาประดิษฐ์ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และในส่วน SMEs และ Startups ภาครัฐ จะมีการพัฒนากลไกช่วยเหลือ ผู้ประกอบการเหล่านี้ อย่างครบวงจร ตั้งแต่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดหาเงินทุนตลอดจนการเปิดตลาด
นายเศรษฐา กล่าวว่า นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอีกหลาย ๆ ปัจจัยที่จะช่วยเสริมให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพ และยังมีนโยบายอีกหลายหลายด้าน ที่จะดำเนินการในภาคส่วนอื่นๆ ด้วย ซึ่งครอบคลุมทั้งการแก้ปัญหาของประชาชน การส่งเสริมภาคธุรกิจ การขยายการลงทุนและอื่นๆอีกมากมายที่จะมาช่วยสร้างรายได้ ลดรายจ่าย และขยายโอกาส
นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า หากผนวกการดำเนินการของรัฐบาล ในทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันแล้ว จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทย และตลาดทุน เติบโต และประชาชนคนไทยทุกคนมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจนี้ อย่างยั่งยืนต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ธ.ค. 66)
Tags: TESG, ก.ล.ต., ตลาดทุน, ตลาดหุ้น, นายกรัฐมนตรี, เศรษฐา ทวีสิน