ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 67 จะยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่ก็อาจจะต้องเผชิญความไม่แน่นอนหลายด้าน โดยเฉพาะความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนด้านนโยบายการคลังไทยของรัฐบาลชุดใหม่ทั้งจากกรอบนโยบายระยะสั้นและระยะปานกลาง รวมถึงความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และกระแสโลกแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่กำลังเป็นประเด็นสำคัญมากขึ้น SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง
*การส่งผ่านความไม่แน่นอนสู่เศรษฐกิจไทย
1. ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่มาจากความไม่แน่นอนของปัจจัยภายในประเทศเอง ซึ่งคิดเป็น 52% ของความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยตลอดช่วงศึกษา แบ่งเป็นความไม่แน่นอนด้านนโยบายการเงิน 23% ความไม่แน่นอนด้านนโยบายการคลัง 18% และความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ 11%
สำหรับปัจจัยภายนอกประเทศส่งผลต่อความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยราว 38% ส่วนใหญ่มาจากความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจโลก 28% และราว 10% มาจากความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่วนที่เหลือราว 10% มาจากปัจจัยอื่น ๆ
2. ความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอกประเทศมีบทบาทสูงในช่วงโลกเกิดวิกฤตและส่งผลผลเชื่อมโยงมาสู่ไทย เช่น ช่วงวิกฤตหนี้ในยุโรปช่วงปี 55-56 เหตุการณ์ Taper tantrum ในปี 56 และช่วงวิกฤตโควิดตั้งแต่ปี 63
3. มองไปในปี 67 ดัชนีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยจะยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตจากปัจจัยความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจโลกและนโยบายการคลัง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะมีผลส่งผ่านมายังการส่งออกและการลงทุนเอกชนไทย
ขณะที่นโยบายการการคลังยังมีความไม่แน่นอนจากขนาดและผลกระทบของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital wallet) ซึ่งจากการแถลงปรับเงื่อนไขโครงการเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 66 กำหนดกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมคนไทย 50 ล้านคน และวงเงินโครงการประมาณ 500,000 ล้านบาท (ราว 3% ของ Nominal GDP) ซึ่ง SCB EIC ประเมินว่าอาจกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยปีหน้าเติบโตได้สูงเกิน 5% ชั่วคราว
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยอาจกลับมาเติบโตในระดับศักยภาพตามเดิม หากโครงการฯ นี้ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้มากและนานหลายปีตามเจตนารมณ์แรกเริ่มของรัฐบาล เนื่องด้วยรัฐบาลจะออกร่าง พ.ร.บ. เงินกู้สำหรับใช้เป็นแหล่งเงินของโครงการฯ นี้ SCB EIC ประเมินว่า มาตรการกระตุ้นการคลังครั้งใหญ่นี้จะทำให้ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระยะปานกลางสูงเกินเพดานหนี้สาธารณะ 70% ต่อ GDP เร็วขึ้น 2 ปีจากเดิมในปี 73 อีกทั้ง จะส่งผลให้พื้นที่การคลังของประเทศสำหรับรองรับความไม่แน่นอนต่าง ๆ ในระยะข้างหน้ามีน้อยลง
ดังนั้น รัฐบาลควรมีแนวทางเชิงรุกในการกำหนดนโยบายสำหรับการเติบโตที่ยั่งยืนและการต้านทานต่อความไม่แน่นอน ด้วยการมุ่งสร้างกลไกการเติบโตใหม่และเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยจาก 2 แนวทางหลัก คือ
1) การเติบโตที่นำโดยนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Innovation and technology-led growth) เช่น การผลักดันการวิจัยและพัฒนา การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การศึกษาและการพัฒนาทักษะ และการสนับสนุนระบบนิเวศสตาร์ตอัป
2) แนวทางปฏิบัติเศรษฐกิจยั่งยืน (Sustainable economic practices) เช่น นโยบายส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว การริเริ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน และนโยบายตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม
โดยทั้ง 2 แนวทางหลักนี้จะเป็นการวางรากฐานสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่แข็งแกร่ง ยืดหยุ่น และพร้อมเผชิญความไม่แน่นอนทุกรูปแบบได้ในอนาคต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ธ.ค. 66)
Tags: ดิจิทัลวอลเล็ต, พ.ร.บ.กู้เงิน, เศรษฐกิจไทย