เร่งปลดล็อคกฎหมาย-แรงงานประมง ทวงแชมป์ส่งออกสินค้าประมง

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า รัฐบาลเร่งผลักดันการฟื้นฟูภาคประมงไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยพยายามปลดล็อคข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคในการทำการประมง ทั้งในเรื่องแรงงาน กฎหมายต่างๆ ที่เป็นเงื่อนไขที่ส่งผลต่อการพัฒนาความเข้มแข็งให้พี่น้องเกษตรกรชาวประมงให้สามารถทำอาชีพประมงได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ยังคงไว้ซึ่งทรัพยากรทางทะเลของไทยให้มีผลผลิตได้อย่างยั่งยืนด้วย

โดยขณะนี้มีความก้าวหน้าใน 3 ประเด็นหลัก คือ

1.ทบทวนการดำเนินงานภายใต้คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ซึ่งมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติชุดเดิมจำนวน 8 ชุด เพื่อปรับเปลี่ยนกลไกการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

2.ขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้คณะกรรมการ แก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงและอุตสาหกรรมการประมง (IUU-ประมง) โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวน 6 คณะ ประกอบด้วย (1) คณะอนุกรรมการปรับปรุงแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560 (2) คณะอนุกรรมการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับภาคการประมง (3) คณะอนุกรรมการด้านการเจรจากับองค์กรระหว่างประเทศและต่างประเทศ (4) คณะอนุกรรมการจัดระเบียบการประมงทะเล และการฟื้นฟูทะเลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (5) คณะอนุกรรมการช่วยเหลือ ชดเชย ความเสียหายในภาคประมง (6) คณะอนุกรรมการศึกษาและพัฒนาระบบการให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) โดยมีเป้าหมายในการพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการประมงไทย ให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศและประชาชนอีกครั้งเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ การดำเนินการของคณะอนุกรรมการด้านการเจรจาฯ มีหน้าที่ไปเจรจากับทางสหภาพยุโรป หรืออียู เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการทำการประมงของไทยในภาคเศรษฐกิจในเวทีโลก

3.การดำเนินงานภายใต้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล โดยมี รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ซึ่งได้เร่งรัดดำเนินการปรับปรุงกฎหมายลำดับรองเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำการประมงและดำเนินโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลอย่างยั่งยืน โดยให้ดำเนินการชดเชย เยียวยา ในการซื้อเรือที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาประมง IUU และยังไม่ได้ดำเนินการ ให้เร่งรัดดำเนินการให้เสร็จสิ้นด้วย

“ในฐานะที่ผมกำกับดูแลกรมประมง พร้อมสนับสนุนและปรับกลไกการทำงานแก้ไขปัญหาให้ชาวประมง ซึ่งมีข้อเสนอมายังรัฐบาลว่ามาตรการในการทำการประมงที่ผ่านมาเข้มงวดมาก จึงเป็นที่มาในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลำดับรองเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและบริบทในการทำการประมงในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับชาวประมงพื้นบ้านโดยการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการประมงทะเลและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อฟื้นฟูการประมงไทยให้มีความยั่งยืน สร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพ และสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวประมง ส่วนการดำเนินการอื่นๆ ได้มีมติเห็นชอบให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการที่มีหน้าที่ดูแลสัตว์น้ำเลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งเป็นประเด็นที่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าสินค้าประมงที่สำคัญของไทยให้ความสำคัญในการรักษาความยั่งยืนของธรรมชาติ เพื่อตอบโจทย์เป็นการเฉพาะ” ร.อ.ธรรมนัส กล่าว

ปัจจุบันภาคประมงไทยมีมูลค่าส่งออกสินค้าประมงกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี เป็นผู้ส่งออกสินค้าประมงมากเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น กลุ่มอาเซียน และจีน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ธ.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top