ในปีนี้ หนึ่งในหัวข้อที่สร้างความสนใจและเป็นประเด็นถกเถียงมาอย่างต่อเนื่อง คงจะหนีไม่พ้นเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า เอไอ (AI) โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) หรือเจนเอไอ (Gen AI) ที่ค่อย ๆ เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตการทำงานหรือการเรียน ไม่ว่าจะเป็นการผลิตภาพ เสียง หรือข้อความตอบโต้ผ่านโปรแกรมชื่อดังอย่างแชทจีพีที (ChatGPT) เรียกกระแสตอบรับทั้งในด้านบวกและลบจากทั่วโลก โดยเฉพาะนักข่าวและสื่อมวลชน ในฐานะสายอาชีพหนึ่งที่ถูกคาดการณ์ว่า จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากเอไอมากที่สุด
อนาคตของห้องข่าว ความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างขั้นตอนการทำงาน ไปจนถึงโอกาสในการจ้างงานที่อาจจะลดน้อยลงจนไม่เหลือเมื่อเอไอเข้ามาแทนที่ นี่เป็นเพียงบางส่วนของข้อสงสัยซึ่งไทยพีบีเอสเวิลด์หยิบยกขึ้นมาพูดคุยที่เวทีเสวนา “AI and the Future of Newsroom” ซึ่งมี 3 ผู้เชี่ยวชาญอย่าง ดร. ปรัชญา บุญขวัญ นักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค), อรนุช เลิศสุวรรณกิจ ซีอีโอ บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด ที่ปรึกษาเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพชื่อดัง และกิตติพงศ์ กิตติถาวรกุล กรรมการบริษัทจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์เฉพาะ บริษัท โพรเมชส์ จำกัด มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
ผู้ช่วยสารพัดประโยชน์คนใหม่?
กระบวนการทำงานที่ทุกห้องข่าวคุ้นเคยจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเมื่อเจนเอไอ เช่น แชทจีพีที หรือ กูเกิลบาร์ด (Google Bard) เข้ามามีบทบาทเต็มตัว นี่คือสิ่งที่ดร.ปรัชญา จากเนคเทค ชี้ให้เห็นว่า ด้วยประสิทธิภาพที่เหนือกว่าสมองมนุษย์ เจนเอไอจะทำให้งานในห้องข่าวมีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยผ่อนแรงและประหยัดเวลาของทีมงานสำนักข่าวได้หลายเท่าตัว
ดร.ปรัชญาซึ่งดูแลโครงการพัฒนาเอไอสำหรับคนไทย มองว่า หน้าที่ของเอไอในห้องข่าวอาจจะแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ ‘งานนักข่าว’ และ ‘งานบรรณาธิการ’ โดยในส่วนของงานนักข่าว เจนเอไอจะช่วยอำนวยความสะดวกในด้านการค้นคว้า กลั่นกรอง และเรียบเรียงเนื้อหา ไปจนถึง ‘ย่อย’ ข้อมูลซับซ้อนให้ออกมาเป็นสำนวนที่เข้าใจง่าย เหมาะสำหรับผู้บริโภคสื่อทั่วไป นอกจากนี้ งานเขียนที่ผลิตโดยการป้อนข้อมูลให้กับแชทจีพีทียังสามารถใช้เป็นแนวทางตั้งต้นสำหรับนำมาพัฒนาต่อเป็นบทความฉบับสมบูรณ์ได้อีกด้วย ขณะที่ในส่วนของงานบรรณาธิการ ซึ่งปัจจุบันนี้ยังคงต้องใช้เวลาส่วนมากไปกับการคัดกรองข้อมูลด้วยตัวเอง เจนเอไอก็สามารถเข้ามาช่วยอ่านเนื้อหา สรุปใจความสำคัญ ตรวจทานความถูกต้องเหมาะสม และแก้ไขงานให้ได้
ยิ่งไปกว่านั้น ในยุคที่ยอดการเข้าถึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสื่อและธุรกิจหลายประเภท เจนเอไอสามารถเข้ามาช่วยเลือกถ้อยคำ วลี และประโยคที่ดึงดูดผู้อ่าน หรือสร้างลูกเล่นต่าง ๆ ที่เพิ่มความน่าสนใจให้กับบทความและแพลตฟอร์มของสำนักข่าวนั้น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ควิซคำถามท้ายข่าว แชตบอต เป็นต้น
ดังนั้น การใช้เอไอ นอกจากจะช่วยทุ่นแรงและเวลาในขั้นตอนงานประจำแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักข่าวและบุคลากรในสายงานสื่อมวลชนได้ทุ่มเทเวลาและความสามารถไปกับการผลิตงานที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ และ ‘ความเป็นมนุษย์ (Humanity)’ อย่างเต็มที่ เช่น งานเชิงสืบสวน หรือการเจาะลึกประเด็นต่าง ๆ นับว่าเป็นประโยชน์อีกข้อที่น่าสนใจ และควรใช้ประกอบการพิจารณาในห้องข่าวทุกสำนัก
คุณอรนุช ซีอีโอของเทคซอส มีเดีย ได้ให้คำแนะนำสำหรับสื่อมวลชนในการเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึงไว้ 3 ข้อด้วยกัน คือ 1) Mindset ทัศนคติที่เปิดกว้าง ไม่มองว่าเอไอเป็นภัยคุกคามต่อหน้าที่การงาน แต่เรียนรู้และทำความเข้าใจว่าเอไอจะทำหน้าที่เสมือนเป็นเพื่อนคู่คิดเราได้อย่างไร 2) Skillset เรียนรู้วิธีการใช้งานเอไอเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ เช่น การเขียนพรอมต์ (Prompt) หรือคำสั่งที่ระบุรายละเอียดและความต้องการอย่างชัดเจน และ 3) Toolset ด้วยการติดตามข่าวสาร การมาถึงของเทคโนโลยี โปรแกรม และเครื่องมือใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทำงานในทุกรูปแบบ
ซีอีโอเทคซอส มีเดีย ยังย้ำด้วยว่า ถึงแม้เอไอจะมีประโยชน์มากมาย แต่ปัญญาประดิษฐ์ก็ ‘ไม่ควรถูกใช้’ และ ‘ไม่สามารถ” ทำหน้าที่ทดแทนมนุษย์ได้หนึ่งร้อยเปอร์เซนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตผลงานที่มีเนื้อหาสุ่มเสี่ยงหรืออ่อนไหว เอไอควรจะมีส่วนช่วยเพียงแค่ปรับปรุงหรือดัดแปลงข้อมูลบางส่วน ก่อนที่มนุษย์ผู้ใช้จะนำข้อมูลที่ได้มาประเมินและประมวลผลด้วยตนเองอีกครั้งเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น การใช้เจนเอไอเพื่อผลิตสื่อรูปแบบอื่น เช่น ภาพ เสียง หรือวิดิโอ ยังมีข้อควรระวังในเรื่องของกฎหมายลิขสิทธิ์อีกด้วย เนื่องจากผู้ใช้ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเอไอเก็บข้อมูลจากแหล่งไหนมาใช้ประกอบการสร้างผลงาน
ตัวอย่างการใช้เอไอที่ถูกหยิบยกมาพูดถึง คือ นโยบายของสหรัฐอเมริกาและประเทศในสหภาพยุโรป ที่มีการกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนว่าผู้ใช้เอไอ โดยเฉพาะเยาวชน จำเป็นต้องพัฒนาทักษะการทำงานขั้นพื้นฐานด้วยการลงมือทำด้วยตนเองก่อนในระดับการศึกษาระดับประถม ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการเรียนรู้ รวมถึงวุฒิภาวะและวิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสาร หลังจากนั้นจึงจะสามารถใช้แชทจีพีทีเป็นตัวช่วยในการทำงานหรือการเรียนได้ มาตรการดังกล่าวนี้ช่วยสร้างความมั่นใจว่ามนุษย์กับเอไอสามารถเติบโตและพัฒนาศักยภาพไปได้พร้อม ๆ กัน
“โอเพ่น เอไอ”ภาคภาษาไทย ความหวังใหม่ของสื่อมวลชน?
ปัญหาใหญ่ที่ผู้ใช้ส่วนมากพบเจอและเป็นสาเหตุให้เอไอในไทยยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร คือ การที่เจนเอไอใช้ภาษาไทย “ไม่ถูกต้อง” ผลลัพธ์ที่ออกมามักจะวกวน เข้าใจยาก สำนวนภาษาไม่เป็นธรรมชาติ หรือผิดจากคำสั่งไปอย่างสิ้นเชิง ก่อให้เกิดปัญหาและความล่าช้า ทั้งหมดนี้ล้วนมีสาเหตุมาจากการที่ปัญญาประดิษฐ์เกือบทุกตัวถูกพัฒนาขึ้นโดยผู้ผลิตหรือธุรกิจที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ และอาศัยอยู่ในบริบททางสังคมแบบตะวันตก ข้อมูลที่มีการป้อนลงใน “ถังข้อมูล” เพื่อพัฒนาเอไอจึงมีจำกัด ไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ที่มีพื้นเพหลากหลายจากทั่วโลกได้
ในส่วนของวิธีการแก้ปัญหานี้ คุณกิตติพงศ์ ผู้บริหารบริษัท โพรเมชส์ จำกัด ได้เสนอให้ผู้ใช้งานร่วมด้วยช่วยกันป้อนข้อมูลภาษาไทยให้กับเอไอ เพื่อค่อย ๆ พัฒนาให้ระบบมีความคุ้นเคยกับคำศัพท์ โครงสร้างภาษา และบริบททางสังคมมากขึ้น โดยคัดเลือกข้อมูลที่มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ ปราศจากอคติหรือความเกลียดชัง ซึ่งจะช่วยสร้างรากฐานที่ดีให้เจนเอไอสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตงาน
‘แล้วจะเอาข้อมูลมากมายมาจากไหน’ นี่คงเป็นคำถามที่ปรากฏขึ้นในใจใครหลายคนเมื่อการพูดคุยมาถึงจุดนี้ วิทยากรในงานมองไปในทิศทางเดียวกันว่า กระบวนการป้อนข้อมูลให้โอเพ่นเอไอภาษาไทยจะประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากวงการสื่อมวลชน หากสำนักข่าวทั้งหลายในไทย ซึ่งมีข้อมูลหรือข่าวที่ผ่านการกลั่นกรองจากกองบรรณาธิการมาแล้วและมีข้อมูลข่าวอยู่ในครอบครองเป็นจำนวนมากได้มารวมตัวกันเพื่อสร้าง “ถังข้อมูลกลาง” สำหรับเจนเอไอภาษาไทย จะทำให้เจนเอไอดังกล่าวมีความรอบรู้ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานคนไทยได้อย่างครบถ้วน ยิ่งไปกว่านั้น ถังข้อมูลดังกล่าวยังสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดให้เป็น โอเพ่น เอไอ หรือเอไอที่เปิดเป็นสาธารณะ สำหรับอำนวยความสะดวกต่องานสื่อสารมวลชนโดยเฉพาะได้อีกด้วย
แต่ข้อเสนอนี้ก็ยังมีแนวโน้มว่าจะก่อให้เกิดปัญหาตามมา ทั้งปัญหาในเชิงกฎหมาย ข้อบังคับต่าง ๆ เกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลสาธารณะ รวมไปถึงปัญหาด้านจริยธรรม จรรยาบรรณสื่อ และปัญหาลิขสิทธิ์ เนื่องจากห้องข่าวหรือสื่อที่ตกลงให้ความร่วมมืออาจจะต้องสละสิทธิ์ในชิ้นงานและข้อมูลที่มีให้เป็นของส่วนกลาง นำมาซึ่งการสูญเสีย ‘Exclusivity’ หรือความพิเศษ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละสำนัก ประเด็นนี้ คุณอรนุชและคุณกิตติพงศ์ได้ให้ความเห็นไว้ว่า การมาถึงของเอไอคือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะสั่นคลอนทุกวงการและแง่มุมของชีวิต ทำให้บรรทัดฐานที่เคยยึดถือกันมาแต่เดิมอาจจะไม่สามารถนำมาใช้ต่อหรือปรับเปลี่ยนได้ทันกับการพัฒนาที่รวดเร็วของเทคโนโลยี ผู้ผลิตงานจึงจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับการทำงานของเอไอ โดยอาจเริ่มจากการป้อนข้อมูลเก่า ๆ หรือข้อมูลที่เมื่อเปิดเผยแล้วจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางธุรกิจเข้าไปยังถังข้อมูลก่อนก็ได้ เพื่อให้ถังข้อมูลมีข้อมูลที่หลากหลายจากสื่อต่าง ๆ
ถึงจุดนี้ อาจกล่าวได้ว่า เราคงจะไม่สามารถเมินเฉยหรือปฏิเสธบทบาทของเอไอได้อีกต่อไปแล้ว การพัฒนาตนเองให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้ตามที่วิทยากรทั้งสามกล่าวปิดท้ายไว้ว่า การเปิดใจยอมรับ และยอมเสียสละค่านิยมเก่า ๆ บางส่วนไป อาจนำมาซึ่งประโยชน์ในระยะยาวที่จะช่วยให้ข้อมูลข่าวสารสามารถพัฒนาไปได้ไกลกว่าเดิมอย่างไม่น่าเชื่อในอนาคต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ธ.ค. 66)
Tags: AI, Media Talk, SCOOP, นักข่าว, ปัญญาประดิษฐ์