ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือเอไอได้กลายมาเป็นหัวข้อในการพูดคุยและการจัดงานสัมมนามากขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่า วงการที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเอไอ คือ วงการสื่อ, การศึกษา, โฆษณา, เฮลธ์แคร์ และการเงิน แล้ววงการสื่อไทยจะเป็นอย่างไร Media Talk จะพาไปพบกับคำตอบจากหลากหลายมุมมองในงาน Thai PBS World Forum ซึ่งจัดโดย Thai PBS World ในหัวข้อ ‘AI and the Future of Newsroom’ ซึ่งมีนักวิชาการ ตัวแทนองค์กรสื่อสารมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมงาน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทั้งเรื่องการใช้ AI และอนาคตของห้องข่าว
แม้ว่า เอไอจะมีข้อดีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นตัวช่วยในการเขียนบทความ สร้างรูปภาพ การรวบรวมข้อมูล หรือสร้างวิดีโอด้วยการป้อนคำสั่งหรือ Prompt จนกลายเป็นเครื่องมือหรือตัวช่วยในการทำงานสำหรับหลาย ๆ คน แต่ในวงการสื่อไทยแล้ว ยังเรียกได้ว่า อยู่ในขั้นเริ่มต้น สำนักข่าวหลายแห่งอยู่ในช่วงการทดลองใช้งานว่าเอไอสามารถทำอะไรให้ได้บ้าง ซึ่งหากจะพูดถึงเอไอยอดนิยมอย่าง ChatGPT แล้ว รศ. ดร. มนวิภา วงรุจิระ จากคณะนิเทศศาสตร์ สุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งเข้าร่วมการสัมมนาดังกล่าว ได้ทำการวิจัยเรื่อง “การใช้ ChatGPT ในห้องข่าวของสำนักข่าวในประเทศไทย” เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยผลลัพธ์ที่ได้จากการสำรวจพบว่า สื่อมวลชนไทยยังไม่ค่อยนิยมใช้เอไอในการทำงานสักเท่าไหร่นัก แต่เลือกใช้เอไอในรูปแบบของการเล่นมากกว่าการใช้งานจริงจัง เนื่องจากคนส่วนใหญ่มองว่าข้อมูลที่ได้จากเอไอนั้นยังขาดความน่าเชื่อถือ
ทางด้านคุณระวี ตะวันธรงค์ Board Advisor ของเพจ The Modernist และส่องสื่อ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในวิทยากรที่เข้าร่วมการสัมมนาเล่าว่า ถึงแม้ปัจจุบัน ตนเองจะไม่ใช่คนทำข่าวโดยตรงแล้ว แต่ก็ยังรับรู้จากเพื่อนฝูงที่เป็นสื่อมวลชนอยู่เสมอ โดยหลาย ๆ คนเริ่มแสดงความกังวลกับการเข้ามาของเอไอในห้องข่าว เนื่องจากกลัวว่า ตนเองจะถูกแทนที่ด้วยเอไอ ด้วยสภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน องค์กรหลาย ๆ องค์กรมีความจำเป็นที่จะต้องลดต้นทุน ตำแหน่งงานใดที่สามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาแทนได้ สุดท้ายแล้วผู้ที่ทำงานในตำแหน่งนั้น ๆ มักถูกปลดออกในที่สุด โดยตำแหน่งที่มีโอกาสที่จะเผชิญกับสถานการณ์ดังกล่าว ได้แก่ นักแปลและรีไรท์เตอร์
“เอไอยังไงก็มา มาแบบพายุไซโคลน อีก 3 เดือนคลังความรู้ก็ระดับปริญญาโทแล้ว และเมื่อเอไอมีคลังความรู้ระดับปริญญาโทเมื่อไหร่ เราจะทำงานยากมากขึ้น” คุณระวี กล่าว
นอกจากความเสี่ยงในเรื่องความน่าเชื่อถือของข้อมูลแล้ว “ภาษาไทย” ก็กลายเป็นอีกหนึ่งในอุปสรรคหลักของการใช้งานเอไอของคนไทย โดยผลวิจัยจากรศ. ดร. มนวิภา ชี้ให้เห็นถึงอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากกำแพงภาษา เนื่องจากภาษาไทยมีความซับซ้อน หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ภาษาไทย”ดิ้นได้”ทำให้การป้อนคำสั่งเอไอมีความยากลำบากกว่าภาษาอังกฤษหลายเท่า หากเว้นวรรคผิดตำแหน่ง ความหมายของประโยคหรือคำสั่งก็สามารถผิดเพี้ยนไปได้
ทั้งนี้ ความสามารถในการใช้งานเอไอก็เป็นอีกอุปสรรคหนึ่งของสื่อมวลชนไทยเช่นกัน โดยคุณระวีได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมในจุดนี้ว่า โดยส่วนใหญ่คนทำงานสื่อมักจะต้องทำงานแข่งกับเวลา หากป้อนคำสั่งให้เอไอไปครั้งสองครั้งแล้วไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการก็มักจะถอดใจไปเสียก่อน
ด้านคุณสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง COFACT ก็ได้ร่วมแชร์มุมมองและประสบการณ์ของตนเอง โดยมองว่า ถึงแม้กระแสเอไอจะมาแรงในทุกมุมโลก แต่สำหรับประเทศไทยนั้น ยังมี”แรงเฉื่อย”ที่รั้งความเร็วของเอไอไว้อยู่ โดยแรงเฉื่อยที่ว่านั้นคือ รูปแบบของสังคมไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัย เนื่องจากสังคมไทยชอบการพูดคุยกันและการมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์โดยตรงมากกว่าการพูดคุยโต้ตอบกับ “แชทบอต (Chatbot AI)” จึงทำให้กระแสความสนใจในการใช้งานเอไอในไทยนั้นไม่ได้มากเท่าไรนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ
ในช่วงปี ค.ศ.2020-2029 นั้น จะเป็นช่วงของการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปกับเอไอ ขณะที่ทศวรรษถัดไป จะเป็นช่วงเวลาของการทำงานกับเอไอ และหลังจากนั้น จะเป็นช่วงเวลาของการใช้ชีวิตกับเอไอ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายมนุษย์มาก
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สื่อมวลชนไทยมีความเท่าทันกับทั่วโลก การเปิดรับประสิทธิภาพของปัญญาประดิษฐ์ด้วยการปรับตัวให้เท่าทันจะเป็นการมุ่งหน้าสู่อนาคตที่ดีได้ ผศ. ดร. สกุลศรี ศรีสารคาม จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สรุปความถึงการใช้งานเอไอในห้องข่าวจากที่ได้ศึกษาหาข้อมูลว่า เอไอสามารถนำมาใช้งานได้ในขั้นตอนใดบ้าง ข้อแรก คือ การใช้เอไอในการช่วยค้นหาและรวบรวมข้อมูล ข้อสองคือการใช้เอไอในการเสนอแนะไอเดียในการเขียน หรือการตัดแต่งรูปภาพและวิดีโอ และข้อสุดท้ายคือ การนำเอไอมาช่วยในการเพิ่มยอดเข้าถึงคอนเทนต์ต่าง ๆ
ผศ. ดร. สกุลศรีให้ความเห็นว่า การนำเอไอมาใช้งานในส่วนนี้ สามารถลดภาระและประหยัดเวลาทำงานลงไปได้ ซึ่งจะทำให้คนทำงานมีเวลาไปโฟกัสกับการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ และสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น โดยจุฬาฯได้ร่วมมือกับทางเนคเทค โดยใช้เอไอเป็นเครื่องมือในการทำวิจัยและให้นิสิตเข้ามามีส่วนร่วมด้วย และที่ผ่านมา ก็จะมีแจ้งให้นิสิตแจ้งด้วยว่า ในงานที่ใช้เอไอนั้น ได้มีการใช้เอไอถึงส่วนใด และสิ่งที่นิสิตนักศึกษาได้เพิ่มเนื้อหาเข้ามาเองนั้น เป็นส่วนใด
อาจารย์สกุลศรีได้สอนให้นักศึกษาได้ทราบถึงวิธีการใช้งานเอไอ ในขณะที่สิ่งที่มนุษย์สามารถทำได้นั้น คือ การเพิ่มคุณค่า (Value) ด้วยการเพิ่มความสร้างสรรค์หรือข้อมูลเชิงลึกเข้าไปในงาน
ขณะที่วิทยากรรายอื่น ๆ ก็มีความคิดเห็นในทำนองเดียวกันที่ว่า เราควรมองเอไอเป็นเหมือน “ผู้ช่วย หรือ เลขา” ที่คอยแบ่งเบาภาระจากเรา ไม่ใช่พนักงานที่จะมาทำงานแทนเราในทุก ๆ ขั้นตอน
กระแสและวิวัฒนาการของเอไอที่รวดเร็ว ในอนาคตของสื่อมวลชนในไทยนั้น จะต้องเตรียมรับมือกับความท้าทายอีกมากมาย ทั้งในด้านการประกอบวิชาชีพ และการปรับตัว โดย ศ. ดร. พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้เน้นย้ำถึงการสร้างความเข้าใจให้สังคมเกี่ยวกับโอกาส ผลกระทบ และความเสี่ยงจากการใช้เอไอ รวมถึงวิธีการที่จะอยู่ร่วมกับเอไออย่างยั่งยืนในอนาคต โดยกสทช.มีความมุ่งมั่นในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเข้าถึงของทุกคน ทั้งในแง่ของการเชื่อมต่อ และการมีส่วนร่วมจากคนทุกกลุ่มทางสังคม และจะทำการกำกับดูแลเนื้อหาต่าง ๆ ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี เพื่อสร้างสังคมที่มีคุณค่าอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ยังแนะนำในแง่ของการกำหนดกฏเกณฑ์ที่แน่ชัด เพื่อป้องกันปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือหน่วยงานที่เข้ามาดูแลในเรื่องของเอไออย่างชัดเจน และการสนับสนุนจากรัฐบาลที่เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่โอกาสทางธุรกิจ เพื่อให้ทั้งภาครัฐและสื่อมวลชนสามารถก้าวไปข้างหน้าร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
“อนาคตอันสดใส แต่ใช่จะไร้ความเสี่ยง” ประโยคจาก Christina Pazzanese นักเขียนของฮาร์วาร์ด ที่คุณสุภิญญาได้ยกคำพูดมาระหว่างการเสวนานั้น สามารถสรุปแนวทางความสัมพันธ์ของเอไอกับสื่อไทยและทั่วโลกได้ดี เพราะถึงแม้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจะมีข้อดีมากน้อยแค่ไหน สุดท้ายแล้วการกำหนดเส้นทางอนาคตก็ตกอยู่ในมือของมนุษย์เราทั้งนั้น ดังนั้นเราจึงควรรู้จักรับผิดชอบตนเอง และสร้างภูมิคุ้นกันในการรู้เท่าทันกระแสที่เปลี่ยนแปลงทุกเมื่อนั่นเอง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ย. 66)
Tags: AI, Media Talk, SCOOP, Thai PBS World, Thai PBS World Forum, ปัญญาประดิษฐ์, สัมมนา