นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ที่กำหนดว่ากรอบงบฯ แต่ละกระทรวง ได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ขั้นตอนต่อไป คือรอคำของบประมาณที่ถูกอนุมัติจัดสรรในรายโครงการ โดยคาดว่าจะออกมาวันที่ 23 ธ.ค. และจะมีมติครม.วันที่ 26 ธ.ค. ซึ่ง กมธ.จะนำข้อมูลที่ได้จากหน่วยงานต่างๆ มาประกบข้อมูลจากสำนักงบประมาณว่ามีความเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนหรือไม่
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ในงบประมาณปี 67 ไม่มีส่วนที่เกี่ยวกับการกู้เงิน 5 แสนล้านบาทเพื่อทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล เพราะมีความชัดเจนอยู่แล้วว่าแหล่งที่มาของเงินในโครงการนี้ ไม่สามารถใช้แหล่งเงินจากงบประมาณเป็นหลักได้ เพราะรัฐบาลยืนยันแล้วว่าจะออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้
“ทราบกันดีว่ามีปัญหาหลายอย่าง เช่น จะขัดกับพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง หรือวินัยหนี้สาธารณะหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ กำลังรอคำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เราก็อยากได้ความชัดเจนในเรื่องนี้เช่นกัน” นายณัฐพงษ์ กล่าว
ส่วนจะมีการนำข้อสังเกตที่ได้ ไปใช้ในการอภิปรายงบประมาณหรือไม่นั้น นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า มีหลายอย่าง โดยเฉพาะระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณ เช่น วาระล่าสุดที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เสนอวาระเกี่ยวกับระเบียบแบ่งชั้นผู้รับเหมา ที่ค่อนข้างชี้ชัดว่าผู้รับเหมาชั้นพิเศษของกรมทางหลวงชนบท เอื้อให้เกิดการฮั้วประมูล เพราะเห็นได้ชัดว่าการประมูลของผู้รับเหมาชั้นพิเศษ มีความแตกต่างกับราคากลางเล็กน้อย ในขณะที่ผู้รับเหมารายอื่นสามารถประมูลงานได้ถูกกว่าถึงกว่า 20% จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการฮั้วประมูล ซึ่งทำให้ต้องเชิญหน่วยงานมาชี้แจง และแก้ไขกฎระเบียบเหล่านี้
- ฝาก สส. ร่วมตรวจสอบร่าง พ.ร.บ.งบปี 67
สำหรับการเตรียมหัวข้อเพื่อแจกแจงให้พรรคร่วมฝ่ายค้านร่วมการอภิปรายนั้น นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เรามีแผนว่าจะเปิดเผยข้อมูลคำของบ 5.8 ล้านล้านบาท เทียบคู่กับ 3.48 ล้านล้านบาท ที่สำนักงบประมาณจัดสรรมา ให้ สส.ทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะฝ่ายค้านช่วยกันตรวจสอบ เพราะสำนักงบประมาณเป็นผู้ถือหลักเกณฑ์เพียงผู้เดียวในการจัดสรรงบ
“ทางกมธ.ฯ ได้เข้าไปดูงานที่สำนักงบฯ แล้ว และได้คำชี้แจงกลับมาว่า หลักเกณฑ์ต่างๆ ไม่ได้เป็นลักษณะระเบียบที่ให้ทุกคนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ นั่นคือ ไม่มีความโปร่งใสเพียงพอ เป็นการตัดสินใจภายในลำนักงบฯ ทั้งหมด ดังนั้น จึงคิดว่าเป็นสิทธิและหน้าที่ของสส.ทุกคน ที่สามารถตั้งคำถามถึงการตัดงบประมาณว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ก่อนที่จะให้มีการผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 67” นายณัฐพงษ์ กล่าว
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า งบประมาณปี 67 เป็นปีแรกที่ล่าช้ามาครึ่งปี ทำให้งบลงทุนที่เป็นรายจ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่สามารถเบิกจ่ายได้เลย ซึ่งเราได้เห็นข้อถกเถียงต่างๆ แล้วว่าวิธีการจ่ายงบประมาณด้วยการกู้และแจก กับการใช้แหล่งงบประมาณไปในแง่ของการลงทุน เราคิดว่าตัวคูณทางเศรษฐกิจของการลงทุนในโครงสร้างขั้นพื้นฐานจะเกิดประโยชน์กับประชาชนในระยะยาวมากกว่า จึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านสภาฯ โดยเร็ว
- เล็งเสนอร่าง พ.ร.บ.งบปี 68 ประกบฉบับของรัฐบาล
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 68 ที่จะเข้าสภาฯ ต่อจากปี 67 นั้น กมธ.ฯ ตั้งใจจะให้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 68 เป็นร่างที่ฝ่ายนิติบัญญัติเสนอประกบกับร่างของฝ่ายบริหาร ดังนั้นในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นช่วงกำหนดส่งคำของบประมาณปี 68 ของทุกหน่วยงานนั้น ทาง กมธ.ฯ จะเรียกทุกหน่วยรับงบประมาณมาชี้แจงคำขอ แบบเดียวกับที่ดำเนินการกับงบประมาณรายจ่ายปี 67 แต่จะแตกต่างกันเล็กน้อย ตรงที่กมธ.ฯ จะมีเวลาพิจารณาได้เพิ่มขึ้น และสามารถให้ข้อเสนอกับสำนักงบฯ ได้ว่าร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ที่สส.ในฐานะตัวแทนประชาชนอยากเห็นนั้นเป็นอย่างไร
ในส่วนขั้นตอนของร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 68 นั้น ในช่วงกลางม.ค.67 จะครบกำหนดส่งคำของบประมาณ ซึ่งหลังจากนั้นสำนักงบฯ จะรวบรวมเพื่อส่งให้ ครม.อนุมัติ และให้ความเห็นต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ย. 66)
Tags: Digital Wallet, ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ, ดิจิทัลวอลเล็ต, พรรคก้าวไกล, เงินดิจิทัล