สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยผลสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 35 ในเดือน พ.ย.66 ภายใต้หัวข้อ “ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างไรให้ลูกจ้างและนายจ้างอยู่รอด” จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 256 ราย ครอบคลุมผู้บริหารจาก
46 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด โดยผู้บริหาร ส.อ.ท.มีความกังวลกรณีที่ภาครัฐจะพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ในอัตราที่สูงเกินไป ซึ่งเป็นภาระที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระในการปรับขึ้นค่าจ้างให้กับแรงงานเดิมตามฐานอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ทำให้ต้องมีการปรับขึ้นราคาสินค้าเพิ่มขึ้นและจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ
จากผลสำรวจปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีต้นทุนแรงงานอยู่ที่ 11-20% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ดังนั้นผู้บริหาร ส.อ.ท.จึงเสนอให้ภาครัฐพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ โดยยึดหลักการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ (Pay by Skill) เพื่อจูงใจให้เกิดการพัฒนาทักษะแรงงาน และควรมีมาตรการส่งเสริมกลไก Pay by Skill โดยเฉพาะการเร่งรัดให้มีการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ครบทุกสาขาอาชีพ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการส่งพนักงานเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
ผู้บริหาร ส.อ.ท.ยังเห็นว่า ภาครัฐควรจะต้องแก้ไขปัญหาปากท้องของแรงงานในระยะยาวควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะการดูแลลดค่าครองชีพให้กับประชาชน เช่น ลดค่าโดยสารสาธารณะ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เป็นต้น รวมทั้งมีการกำกับดูแลการปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและควบคุมให้มีการปรับราคาสินค้าขึ้น-ลงตามต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งจะทำให้แรงงานมีเงินเหลือใช้จ่ายมากขึ้นและยังช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับตลาดอีกทางหนึ่งด้วย
นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่มองว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า ภาคอุตสาหกรรมยังมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการใช้แรงงานในภาคการผลิตอยู่ แต่จะเริ่มมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยการนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนการใช้แรงงานคนมากขึ้นในอัตราส่วนไม่เกิน 20% ของการใช้แรงงานคนในปัจจุบัน
สรุปผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 35 จำนวน 6 คำถาม
1.ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมมีต้นทุนค่าแรงงานคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด
อันดับที่ 1 : 11-20% > 33.0%
อันดับที่ 2 : 21-30% > 25.3%
อันดับที่ 3 : 31-40% > 17.6%
อันดับที่ 4 : มากกว่า 40% > 12.6%
อันดับที่ 5 : น้อยกว่า 10% > 11.5%
2.ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อกรณีหากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราที่สูงเกินไปอย่างไร (Multiple choices)
อันดับที่ 1 : กดดันต้นทุนการผลิตจนทำให้ต้องมีการปรับขึ้นราคาสินค้าและส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ 66.7%
อันดับที่ 2 : ภาระในการปรับขึ้นค่าจ้างให้กับแรงงานเดิม ที่จะต้องปรับขึ้นตามค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ 63.6%
อันดับที่ 3 : ขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลกลดลง 57.9%
อันดับที่ 4 : อัตราการจ้างงานลดลงจากการปรับลดแรงงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายขององค์กร และยกระดับระบบสวัสดิการแรงงาน 38.7%
3.แนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบใดเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน
อันดับที่ 1 : การจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ (Pay by Skill) เพื่อจูงใจให้พัฒนาทักษะ 45.3%
อันดับที่ 2 : ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามสภาพเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัดผ่านมติคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด 35.6%
อันดับที่ 3 : ชะลอการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำออกไปก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว 17.2%
อันดับที่ 4 : ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราเดียวเท่ากันทั่วประเทศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 1.9%
4.ภาครัฐควรส่งเสริมกลไกการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ (Pay by Skill) อย่างไร (Multiple choices)
อันดับที่ 1 : เร่งรัดให้มีการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ครบทุกสาขาอาชีพ 62.1%
อันดับที่ 2 : สามารถนำค่าใช้จ่ายในการส่งพนักงานเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า 60.9%
อันดับที่ 3 : สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อลดภาระให้แก่ผู้ประกอบการ 48.3%
อันดับที่ 4 : จัดสรรงบประมาณดำเนินโครงการฝึกอบรมให้แก่แรงงานที่ต้องการพัฒนาฝีมือแรงงาน 46.4%
5.นอกจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว รัฐบาลควรแก้ไขปัญหาปากท้องของแรงงานในระยะยาวอย่างไร (Multiple choices)
อันดับที่ 1 : ลดค่าครองชีพให้กับประชาชน เช่น ลดค่าโดยสารสาธารณะ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เป็นต้น 69.3%
อันดับที่ 2 : กำกับดูแลการปรับราคาสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและควบคุมให้ปรับตามต้นทุนที่แท้จริง 65.9%
อันดับที่ 3 : สนับสนุนให้เกิดการสร้างงานใหม่ๆ ผ่านโครงการรัฐ และพัฒนาศูนย์ฝึกอาชีพให้กับชุมชน 39.8%
อันดับที่ 4 : เพิ่มสวัสดิการให้กับแรงงานในระบบประกันสังคม เช่น เงินอุดหนุนการศึกษาบุตร เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น 36.4%
6.ใน 3 ปีข้างหน้า ภาคอุตสาหกรรมมีแผนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยการนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนแรงงานคน คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นของการใช้แรงงานคนในปัจจุบัน
อันดับที่ 1 : น้อยกว่า 20% > 34.9%
อันดับที่ 2 : 21-30% > 26.4%
อันดับที่ 3 : มากกว่า 50% > 16.1%
อันดับที่ 4 : 31-40% > 13.0%
อันดับที่ 5 : 41-50% > 9.6%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ย. 66)
Tags: ขึ้นค่าจ้าง, ทักษะฝีมือ, ราคาสินค้า, ส.อ.ท., สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย