รัฐบาล เร่งสังคยานากม. 4 ด้าน อำนวยความสะดวก-สร้างความเชื่อมั่นลงทุน

นายธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ได้กำหนดประเด็นสำคัญ 4 ด้านในการปรับปรุงกฎหมายระยะแรก เพื่อตอบโจทย์ตามนโยบายรัฐบาล การสร้างความเชื่อมั่นทางธุรกิจ และสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันในระดับนานาชาติ พร้อมทั้งมีคณะอนุกรรมการรวม 4 คณะ เพื่อรับผิดชอบในแต่ละประเด็น ประกอบด้วย

1.ด้านการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ยกเว้นใช้แบบรายงานของคนต่างด้าว ซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (ตม.6) ให้ครอบคลุมถึงพาหนะทางบกและทางเรือ การดำเนินการที่เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว หรือการเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรและการทำงานของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ เป็นประธานฯ

2.ด้านการพัฒนาระบบการอนุญาตหลัก (Super License) จะเร่งดำเนินการใน 3 เรื่อง ได้แก่ การประกอบกิจการร้านอาหาร การประกอบธุรกิจที่พักขนาดเล็ก ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและยกระดับเศรษฐกิจชุมชนด้วย และการขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย โดยมี น.ส.เพียงพนอ บุญกล่ำ เป็นประธานฯ

3.ด้านการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เกี่ยวข้องกับการนำเข้าส่งออกสินค้าเพื่อลดข้อจำกัดและระยะเวลาของผู้ประกอบการ และการขออนุญาตนำสินค้าเข้า-ออกเพื่อการแสดงสินค้าและนิทรรศการ (MICE) จะช่วยดึงดูดให้มีการนำเข้าส่งออกสินค้าผ่านประเทศไทยจำนวนมากขึ้น โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ เป็นประธานฯ

4.ด้านการผลักดันพลังงานสะอาด (Clean Energy) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน โดยจะพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของแผนพลังงานชาติ และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก เช่น การขออนุญาตและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) โดยมีนายกิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา เป็นประธานฯ

นายธงทอง กล่าวว่า หลังจากนี้คณะอนุกรรมการทั้ง 4 ด้านจะไปสรุปข้อกฎหมายที่ยังติดขัด ซึ่งบางอย่างสามารถแก้ไขด้วยมติคณะรัฐมนตรี หรือกฏกระทรวง แต่หากมีความจำเป็นผ่านกระบวนการนิติบัญญัติหรือการแก้พระราชบัญญัติอาจจะต้องใช้ระยะเวลา

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายเดือน ม.ค.67 น่าจะมีความชัดเจนในตัวกฎหมายที่จะดำเนินการแก้ไขได้ และหลังจากนี้จะมีการกำหนดไทม์ไลน์ว่า เรื่องใดสามารถดำเนินการแก้ไขภายใน 6 เดือน 1 ปี หรือ 2 ปี ต้องมีมติแก้กฏหมายอะไรบ้าง เดินหน้าอย่างไร

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ย. 66)

Tags:
Back to Top