นายวัชรินทร์ บุญฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวในงานเสวนา “KTC FIT Talks” หัวข้อ “ถึงเวลาพลังงานทางเลือก เป็นพลังงานทางรอด” ว่า กระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินการส่งเสริม สนับสนุนการผลิต และการใช้พลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2561-2580 (AEDP 2018) โดยกำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนที่ 30% ภายในปี 2580 และมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานทดแทน ทั้งในส่วนของพลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน และเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง ซึ่งขับเคลื่อนผ่านมาตรการต่างๆ
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ยังจัดทำแผนพลังงานชาติฉบับใหม่ ที่มีเป้าหมายการมุ่งสู่ Carbon Neutrality 2050 หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งหมายถึงการลด ดูดซับ หรือชดเชยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในปริมาณที่เท่ากับการปล่อย CO2 ตามกรอบแผนพัฒนาพลังงานชาติ (National Energy Plan) ซึ่งกำหนดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไว้ที่สัดส่วนไม่น้อยกว่า 50% โดยมุ่งเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน ส่งเสริมการประหยัดพลังงานให้เข้มข้นมากขึ้น
รวมทั้งมีนโยบายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ภายใต้ขอบเขตของการร่วมมือ ในการพัฒนาส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่สามารถร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนสังคม พร้อมส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกในบริบทต่างๆ เช่น การส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจสีเขียว การใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้น รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญและมุมมองความต้องการในเชิงธุรกิจ
นายสุวัฒน์ เทพปรีชาสกุล ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายการตลาดบัตรเครดิตเคทีซี หรือ บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเผยว่า จากการศึกษาพบว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ และฐานข้อมูลการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซีในหมวดรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (Electronic Vehicle: EV) ตั้งแต่ต้นปี 66 ถึงปัจจุบัน ยังพบว่ามีการเติบโตต่อเนื่องถึง 60% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ EV เครื่องชาร์จระบบรถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนประกันภัยสำหรับรถยนต์ EV โดยเฉพาะ
อย่างไรก็ดี มี 3 เช็กลิสต์ สำหรับผู้ที่กำลังตัดสินใจว่าควรเปลี่ยนเป็นรถ EV หรือไม่ คือ 1. ไม่ได้ขับรถระยะทางไกลมากนัก 2. ที่อยู่อาศัยสามารถชาร์จแบตเตอรี่รถได้สะดวก เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาชาร์จนาน 6-8 ชั่วโมง และ 3. ต้องยอมรับว่า รถ EV เปรียบเหมือนโทรศัพท์มือถือ ที่มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีต่างๆ ไปอย่างรวดเร็ว และมีการปรับเปลี่ยนใหม่เสมอ
“ผู้ที่กำลังตัดสินใจจะเปลี่ยนรถ จากพลังงานแบบเดิม มาใช้รถ EV เคทีซีมอบสิทธิพิเศษที่ครบวงจร สำหรับสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซี อาทิ ผ่อนชำระ 0% ค่าจองรถ และค่าดาวน์รถยนต์ EV รับเครดิตเงินคืนสูงสุด 16% หรือรับคะแนนสะสมพิเศษสูงถึง 1 ล้านคะแนน เป็นต้น” นายสุวัฒน์ กล่าว
นายวชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Smart System Solution Business ในธุรกิจซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า จากเมกะเทรนด์ ที่ผลักดันให้ระบบโซลาร์ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความต้องการใช้รถไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประสิทธิภาพของวัสดุอุปกรณ์ของระบบดียิ่งขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนของระบบโซลาร์ต่ำลง และเข้าถึงง่ายมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน ระบบโซลาร์แบบออนกริด (On-Grid) ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากคืนทุนรวดเร็วที่สุด และสามารถขายคืนการไฟฟ้าในโครงการโซลาร์ภาคประชาชน หากต้องการติดตั้งระบบโซลาร์ นอกเหนือจากพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของเจ้าของบ้านแล้ว ควรพิจารณาถึงมาตรฐานของอุปกรณ์ในระบบ ผู้ให้บริการติดตั้งที่เชื่อถือได้ เพื่อการดูแลในระยะยาว
“ถ้าเริ่มต้นติดตั้งโซลาร์เซลล์ ขนาด 3 กิโลวัตต์ ใช้เงินประมาณ 1 แสนบาท ซึ่งถ้าใช้ไฟช่วงกลางวัน คาดว่าประมาณ 4-6 ปีก็สามารถคืนทุนได้แล้ว แต่ถ้าอยากใช้ไฟช่วงกลางคืน ก็ต้องลงทุนซื้อแบตเตอรี่เพิ่ม ซึ่งมีราคาแพงเล็กน้อย ทั้งนี้ ถ้าใช้ไฟไม่หมด สามารถขายคืนไฟให้รัฐ ได้ประมาณ 2 บาทต่อหน่วย” นายวชิระชัย กล่าว
นายณัฐสิทธิ์ สุนทราณู ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายการตลาดบัตรเครดิตเคทีซี หรือ บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) กล่าวว่า ในช่วงปี 64-66 ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซี ในการติดตั้งโซลาร์รูฟเติบโตเฉลี่ย 10% KTC ยังได้เตรียมสิทธิพิเศษในรูปแบบต่างๆ กับพันธมิตรชั้นนำเกี่ยวกับการติดตั้งโซลาร์รูฟ ทั้งการผ่อนชำระ 0% หรือรับเครดิตเงินคืนเพิ่มเติม เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ย. 66)
Tags: KTC, บัตรกรุงไทย, พลังงานทางเลือก, วชิระชัย คูนำวัฒนา, วัชรินทร์ บุญฤทธิ์, สุวัฒน์ เทพปรีชาสกุล