องค์กรระงับข้อพิพาทประจำองค์การการค้าโลก (WTO) ได้อนุมัติการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อทบทวนมาตรการตอบโต้การอุดหนุนที่สหภาพยุโรป (EU) บังคับใช้ต่อการนำเข้าไบโอดีเซลจากอินโดนีเซีย
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อเดือนส.ค. อินโดนีเซียได้ยื่นคำร้องขอปรึกษาหารือข้อพิพาทกับ EU ผ่าน WTO เกี่ยวกับกรณีที่ EU เรียกเก็บภาษีนำเข้าไบโอดีเซลจากอินโดนีเซีย แต่ไม่สามารถทำข้อตกลงกันได้ ดังนั้น อินโดนีเซียจึงเรียกร้องในเดือนต.ค.ให้ WTO จัดตั้งคณะกรรมการระงับข้อพิพาทขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ EU ไม่ยอมรับ
“ความพยายามในการยื่นอุทธรณ์คดีนี้ต่อ WTO ถือเป็นกลยุทธ์ในการรักษาการเข้าถึงตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซลของอินโดนีเซียใน EU ซึ่งปัจจุบันอัตราภาษีนั้นอยู่ที่ 8%-18%” บูดี ซานโตโซ เจ้าหน้าที่อาวุโสจากกระทรวงการค้าอินโดนีเซียกล่าว
นายบูดีระบุเสริมว่า มาตรการตอบโต้การอุดหนุนนั้นมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 10 ธ.ค. 2562 – 10 ธ.ค. 2567
ขณะเดียวกัน นายพอลลัส จักราวัน ประธานสมาคมผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพของอินโดนีเซียระบุว่า มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ส่งออกไบโอดีเซลของอินโดนีเซีย และหวังว่าคณะกรรมการของ WTO จะสามารถเริ่มพิจารณาประเด็นดังกล่าวได้ทันที
ทั้งนี้ WTO ระบุเมื่อช่วงค่ำของวันจันทร์ (27 พ.ย.) ว่า สหรัฐ อังกฤษ นอร์เวย์ รัสเซีย ไทย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น แคนาดา จีน อาร์เจนตินา และตุรกีสงวนสิทธิของบุคคลที่สามในการเข้าร่วมกระบวนการพิจารณาข้อพิพาทดังกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ย. 66)
Tags: WTO, ภาษีนำเข้า, ไบโอดีเซล