ทางการอินเดียเปิดเผยความคืบหน้าในภารกิจช่วยเหลือคนงาน 41 รายที่ติดอยู่ใต้อุโมงค์ทางหลวงถล่ม โดยระบุว่าเจ้าหน้าที่กู้ภัยใกล้เข้าถึงจุดที่คนงานติดอยู่ในอุโมงค์แล้ว ซึ่งอยู่ห่างเพียง 6-7 เมตรเท่านั้น และมีความมั่นใจว่าจะสามารถขุดเจาะไปถึงพวกเขาได้ภายในวันนี้ (28 พ.ย.)
กลุ่มคนงานดังกล่าวติดอยู่ใต้อุโมงค์ความยาว 4.5 กิโลเมตรบริเวณเทือกเขาหิมาลัยในรัฐอุตตราขัณฑ์ทางตอนเหนือของประเทศตั้งแต่วันที่ 12 พ.ย. หรือนานกว่า 2 สัปดาห์แล้ว
เจ้าหน้าที่กล่าวว่า วิธีขุดแบบ “เหมืองหนู” (rat miners) ถูกนำมาใช้ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (27 พ.ย.) หลังจากที่เครื่องจักรขัดข้อง โดยวิธีขุดดังกล่าวเป็นการขุดเจาะด้วยมือ และมีความคืบหน้าในชั่วข้ามคืน
เหมืองหนู คือการขุดเจาะโดยใช้ผู้เชี่ยวชาญการขุดแบบดั้งเดิม ส่วนใหญ่ใช้เพื่อหาแหล่งถ่านหินผ่านการขุดเป็นช่องแคบ ๆ เหมือนรูหนู ซึ่งกว้างพอสำหรับคนคนเดียวลอดลงไปเท่านั้น โดยชื่อนี้ได้มาจากลักษณะที่คล้ายคลึงกับหนูขุดดิน อย่างไรก็ตามก็เป็นวิธีการที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากเป็นวิธีการขุดที่อันตราย
“เหลืออีกแค่ประมาณ 6 หรือ 7 เมตรเท่านั้น” นายดีพัค พาติล เจ้าหน้าที่อาวุโสผู้นำทีมกู้ภัยกล่าว พร้อมเสริมว่า ซากอุโมงค์ถล่มลึกประมาณ 60 เมตร ถูกเจาะทะลุไปแล้วมากกว่า 50 เมตร และเมื่อถูกถามว่าจะสามารถเข้าไปถึงคนงานได้ในวันนี้หรือไม่ นายพาติลตอบอย่างมั่นใจว่า “แน่นอน 100%”
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า คนงานที่ติดอยู่ใต้อุโมงค์ได้รับความช่วยเหลือผ่านทางท่อ ทั้งอาหาร น้ำ ออกซิเจน ยา และอุปกรณ์ให้แสงสว่าง อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการขุดอุโมงค์ด้วยเครื่องเจาะเพื่อช่วยเหลือพวกเขา ต้องประสบกับอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย
ทั้งนี้ อุโมงค์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงชาร์ธัม (Char Dham) มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หนึ่งในโครงการที่นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรี ตั้งความหวังไว้มากที่สุด โดยโครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมต่อสถานที่แสวงบุญ 4 แห่งของชาวฮินดู ผ่านเครือข่ายถนนยาว 890 กิโลเมตร
แม้เจ้าหน้าที่ไม่ได้เปิดเผยว่าอุโมงค์ถล่มเพราะสาเหตุใด แต่ภูมิภาคดังกล่าวมีแนวโน้มจะเกิดดินถล่ม แผ่นดินไหว และน้ำท่วมได้ง่าย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ย. 66)
Tags: อินเดีย, อุโมงค์ถล่ม