พม.ปล่อย 5 คลิปของ 5 รัฐมนตรีหญิงแสดงจุดยืนณรงค์และเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงต่อสตรี

นางรัดเกล้า สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ปล่อย 5 คลิปของ 5 รัฐมนตรีหญิง แสดงจุดยืนณรงค์และเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงต่อสตรี ในมิติของ 5 กรทรวง เนื่องในวันนี้ 25 พฤศจิกายนเป็นวันรณรงค์และเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงต่อสตรี

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ย้ำ “ความรุนแรงในที่ทำงาน เป็นภัยเงียบที่ผู้หญิงหลายคนประสบพบเจอ แต่ว่าไม่ค่อยมีใครพูดถึงเท่าไหร่เพราะคนที่ถูกกระทำมักจะเก็บตัวเงียบ ตลอดจนเพื่อนๆ ที่ทำงานเอง ก็ไม่มีใครกล้าที่จะมาบอกกล่าวเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น อาจจะเป็นสาเหตุที่เกิดจากหลายคนอาจจะกังวลในเรื่องของหน้าที่การงาน หรืออับอายที่จะต้องพูดถึง

แต่จริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ใช่ภาระของคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่แค่คนที่ถูกคุกคาม โดยความกลัว ดิฉันคิดว่าทุกคนกลัว แต่ว่าถ้ากล้าที่จะเริ่มทำในการปกป้องเพื่อนที่ทำงาน คิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี วันนี้อยากขอเชิญชวนทุกคนลด ละ เลิกพฤติกรรมคุกคาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของร่างกายและจิตใจในที่ทำงาน”

นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำ “ความมั่นคงของครอบครัวกำลังประสบปัญหา โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวกับเด็ก สตรี และคนในครอบครัว เรามีกฎหมายสำหรับผู้ปกครอง ในปี 2550 ซึ่งคุ้มครองสำหรับผู้ที่ถูกกระทำอย่างรุนแรง รัฐบาลมีแนวทางที่จะปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อยากให้ทุกคนในทุกภาคส่วนของสังคมช่วยกันสอดส่องดูแลต้องไม่นิ่งเฉย เพื่อที่จะให้เหตุการณ์คลี่คลาย แล้วให้เราดูแลสังคมด้วยกัน อย่านิ่งเฉย เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วงไป”

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ย้ำ “การท่องเที่ยวเทรนใหม่ จะมีการท่องเที่ยวทั้งผู้หญิงมาท่องเที่ยวกันเอง หรือการท่องเที่ยวแบบครอบครัว ในการไปสถานที่ที่แปลกใหม่ ก็อยากให้ทุกคนระมัดระวังและดูแลตัวเอง เพื่อป้องกันการเกิดเหตุร้าย และในส่วนของประชาชนชาวไทย ก็อยากให้เป็นเจ้าบ้านที่ดี เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกท่าน หากเห็นการเกิดเหตุอะไรที่ไม่ดี ก็ไม่อยากให้นิ่งนอนใจหรือเพิกเฉย”

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ย้ำ “ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในสถานศึกษา คือการบูลลี่ (Bully) ด้วยกันเอง ไม่ว่าจะเป็นรุ่นพี่บูลลี่รุ่นน้อง หรือเพื่อนบูลลี่เพื่อน หรือแม้กระทั่งน้องบูลลี่พี่ก็ตาม ซึ่งปัญหาความรุนแรงในสถานศึกษา บางครั้งเราจะโทษเด็กอย่างเดียวคงไม่ได้ คงต้องกลับไปมองถึงต้นตอของปัญหา คือที่บ้าน เราควรจะเริ่มต้นจากครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในสังคม คุณพ่อ คุณแม่ ดูแลลูก อบรมสั่งสอนลูกให้รู้ว่า สิ่งที่ควรทำคืออะไร สิ่งที่ไม่ควรทำคืออะไร ความเหมาะสมคืออะไร หลายๆ ครั้ง เราได้ยินเรื่องของเด็กฆ่าตัวตาย หรือเราทราบมาว่าเรื่องราวของเด็กที่ฆ่าตัวตาย นอกจากเรื่องปัญหาของการเรียนแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องเพื่อน ความสัมพันธ์กับเพื่อน เรื่องของความรัก เรื่องของความสัมพันธ์ที่ไม่เข้าใจกับญาติพี่น้อง พ่อแม่ ครอบครัว ความสัมพันธ์ที่ไม่เข้าใจกับครู นอกจากในบ้านแล้ว ออกมาที่โรงเรียนหรือว่าสถานศึกษาต่างๆ สถานศึกษาควรจะมีระบบโค้ชชิ่ง (Coaching) คือระบบการดูแลนิสิต นักศึกษา นักเรียน ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเรื่องของการเป็นอยู่ โดยเฉพาะเรื่องของสภาพจิตใจ ขณะเดียวกันก็ให้มีระบบคอลเซ็นเตอร์ที่คอยรับฟังและรับเรื่องราวที่ไม่สบายใจ จะมีระบบที่เพื่อนดูแลเพื่อน มีระบบที่พี่ดูแลน้อง จะทำให้เกิด Early Detect หลายครั้งสามารถที่จะตรวจจับปัญหาได้ก่อนที่จะเกิดความรุนแรงขึ้น”

และท้ายสุด นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ย้ำ “ปัจจุบัน ปัญหาความปลอดภัยในการเดินทางขนส่งสาธารณะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของผู้เดินทางในระบบการขนส่งโดยเฉพาะสตรี แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ทางเพศ และระบบการขนส่งมวลชน สาธารณะ มีความรุนแรงไม่น้อยกว่าพื้นที่อื่นๆ อีกทั้ง ความรุนแรงนี้ยังสร้างผลกระทบต่อทางด้านจิตใจ ร่างกายและอารมณ์ของผู้ถูกกระทำ นอกจากนั้น ยังกระทบถึงบุคคลที่อยู่ภายในครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงอยากให้สังคมร่วมกันตระหนัก และต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมมือกัน เมื่อพบเห็นการคุกคามทางเพศในระบบของขนส่งสาธารณะ ไม่ควรจะยอมรับและนิ่งเฉย เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดซ้ำซากของผู้ถูกกระทำ”

รัฐมนตรีหญิงและนางรัดเกล้าวอนความร่วมมือจากภาคประชาชน หากมีพบเห็นผู้กระทำความผิดมีพฤติกรรมรุนแรง ต่อสตรีหรือผู้อื่น ควรแจ้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตลอด 24 ชั่วโมง เช่น สายตรวจของตำรวจ แจ้ง 191 / ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสาร รถสาธารณะ แจ้ง1584 / ศูนย์ช่วยเหลือสังคม แจ้ง 1300 / ตำรวจท่องเที่ยว แจ้ง 1155

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ย. 66)

Tags: ,
Back to Top