นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติวงเงินชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการโรงสี เพื่อให้มีสภาพคล่องในการรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาที่กำลังออกสู่ตลาดในขณะนี้ โดยจะชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้ในอัตรา 4% วงเงินรวม 780 ล้านบาท ใช้เงินจากกองทุนนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ก่อน ซึ่งเตรียมจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า (28 พ.ย.) พิจารณาเห็นชอบ
สำหรับการจ่ายเงินไร่ละ 1,000 บาทให้กับชาวนา ไม่เกิน 20 ไร่ และสูงสุดไม่เกินครัวเรือนละ 20,000 บาท ภายใต้โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตของชาวนาปีการผลิต 66/67 นั้น คณะกรรมการ (บอร์ด) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีมติเห็นชอบแล้ว และจะเริ่มโอนเงินเข้าบัญชีชาวนาโดยตรงได้ ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย.เป็นต้นไป และจะดำเนินการให้เสร็จภายใน 5 วันทำการ ซึ่งชาวนาได้รับสิทธิรวม 4.68 ล้านครัวเรือน
ด้านนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กลาวว่า ราคาข้าวขณะนี้ปรับตัวดีขึ้นจากสัปดาห์ก่อนที่มีฝนตกหลายพื้นที่ จนทำให้ชาวนาต้องเกี่ยวข้าวสดมาขาย ส่งผลให้ราคาข้าวที่ขายได้ลดลงตามความชื้นที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่สัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ตันละ 14,550-15,300 บาท ส่วนข้าวเปลือกเจ้า เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ตันละ 11,450-11,700 บาท และข้าวเปลือกเหนียว เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ตันละ 12,900-13,800 บาท โดยคาดว่าราคาข้าวไทยจะขยับขึ้นได้อีก เพราะผ่านพ้นช่วงฤดูฝนไปแล้ว
โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 66/67 จะช่วยชดเชยดอกเบี้ยโรงสีเก็บสต็อกข้าว 4% งบประมาณรวม 780 ล้านบาท เป้าหมาย 4 ล้านตัน โดยให้โรงสีเก็บสต็อก 2-6 เดือน มีระยะเวลารับซื้อตั้งแต่ที่ครม.อนุมัติ ไปจนถึงวันที่ 31 มี.ค.67 (ทั่วไป) และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 30 มิ.ย.67 (สำหรับภาคใต้) ระยะเวลาเก็บสต็อกตั้งแต่ ครม.อนุมัติถึงเดือนธ.ค.67 และระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่ ครม.อนุมัติถึงวันที่ 31 ต.ค.68
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ที่มีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เป็นประธานบอร์ดฯ ได้เห็นชอบให้ ธ.ก.ส.ดำเนินโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 54,336 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปีการผลิต 2566/67
โดยมีเป้าหมายเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 4.68 ล้านครัวเรือน พร้อมจัดทำแผนการโอนเงินส่งถึงมือเกษตรกร เป็นรายภูมิภาค แบ่งเป็น 5 รอบ เริ่มตั้งแต่ 28 พ.ย.66 เป็นต้นไป
“โครงการดังกล่าว เป็นการขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือชาวนาให้มีรายได้ และสภาพคล่องในการใช้จ่าย รวมถึงการพัฒนาคุณภาพผลผลิตข้าว ให้สามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น” นายฉัตรชัย ระบุ
ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงิน ได้ทางแอปพลิเคชัน BAAC Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง และจะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่านบริการ BAAC Connect ทาง Line: BAAC Family อีกด้วย
ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวต่อว่า ในการช่วยเหลือเกษตรกรครั้งนี้ รัฐบาลได้มอบนโยบายในการจัดทำมาตรการคู่ขนาน เพื่อดูแลและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกแบบครบวงจร อีก 2 มาตรการ ได้แก่
1. สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 วงเงินรวม 34,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว โดยไม่ต้องเร่งขายข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก และราคาตกต่ำ โดยรัฐบาลรับภาระในการชำระดอกเบี้ยแทนเกษตรกร
และ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกให้เกษตรกรอีก 1,500 บาทต่อตัน กรณีเกษตรกรเก็บข้าวเอง ได้รับ 1,500 บาทต่อตัน กรณีเกษตรกรฝากข้าวกับสถาบันเกษตรกร เกษตรกรจะได้รับ 500 บาทต่อตัน และสถาบันฯ จะได้รับ 1,000 บาทต่อตัน
สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้ารายย่อย สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีได้ (เงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด)
2. สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท โดยสหกรณ์การเกษตร ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนและศูนย์ข้าวชุมชนที่ประกอบธุรกิจรวบรวมข้าวจากเกษตรกรสมาชิก และเกษตรกรทั่วไป โดยสถาบันฯ ชำระดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 ต่อปี ส่วนที่เหลือรัฐบาลรับภาระชำระแทน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 พ.ย. 66)
Tags: ข้าวเปลือก, ชาวนา, ดอกเบี้ยเงินกู้, นบข., ภูมิธรรม เวชยชัย, ราคาข้าว, วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม, เกษตรกร, โรงสีข้าว