SCGD ประกาศช่วงราคา IPO หุ้นละ 11.20-11.50 บาท เคาะราคาสุดท้าย 6 ธ.ค.พร้อมลุยตลาดอาเซียน

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บล.บัวหลวง ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งจาก บมจ.เอสซีจี เดคคอร์ (SCGD) กล่าวว่า ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นมา SCGD ได้เริ่มทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของบมจ.เอสซีจี เซรามิกส์ (COTTO) ที่ราคา 2.40 บาทต่อหุ้น พร้อมกับชำระค่าตอบแทนเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ SCGD โดยที่ช่วงราคาเสนอขาย IPO สุดท้าย ที่ 11.20-11.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นช่วงอัตราแลกหุ้น 4.6667-4.7917 หุ้น COTTO ต่อ 1 หุ้น SCGD โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 6 ธันวาคม 2566

SCGD จะเปิดให้ผู้ถือหุ้นของเอสซีจี และผู้ถือหุ้นของ COTTO ที่ได้รับสิทธิ เริ่มทำการจองซื้อหุ้น IPO ของ SCGD ในวันที่ 29 พฤศจิกายน ถึง 6 ธันวาคม 2566 ที่ราคา 11.50 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขาย IPO สุดท้าย จากนั้นในวันที่ 6 ธันวาคม 2566 จะมีการประกาศราคาเสนอขายสุดท้าย ให้ประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นนักลงทุนรายย่อยสามารถจองซื้อได้ในวันที่ 8 ธันวาคม และ 12 – 13 ธันวาคม 2566

นายนำพล มลิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCGD เปิดเผยว่า SCGD มีความมั่นใจและมีความพร้อมเต็มที่ในการขยายธุรกิจเชิงรุกสู่ภูมิภาคอาเซียนซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพเติบโตต่อเนื่องและมีมูลค่าตลาดรวมวัสดุตกแต่งพื้นผิว และสุขภัณฑ์สูงถึงประมาณ 5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 180,000 ล้านบาท โดยมีแผนที่จะเติบโตจากการขยายธุรกิจจากประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะธุรกิจสุขภัณฑ์ซึ่งบริษัทมียอดขายสุขภัณฑ์อันดับ 1 ในไทยและเป็นสินค้าที่มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ดี รวมถึงต่อยอดความแข็งแกร่งของธุรกิจตกแต่งพื้นผิวด้วยการขยายตลาดกระเบื้องไวนิล SPC และ LVT ซึ่งเป็นสินค้าทางเลือกใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมในเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

“บริษัทได้ลงทุนสายการผลิตกระเบื้องไวนิล Stone Plastic Composite (SPC) มีกำลังการผลิต 1.8 ล้านตารางเมตรต่อปี ที่โรงงานหินกอง สระบุรี ใช้งบลงทุน 138 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 2567 เพื่อเตรียมขยายตลาดทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน พร้อมทั้งเตรียมลงทุนขยายกำลังการผลิตกระเบื้องพอร์ซเลนรวม 6.6 ล้านตารางเมตรต่อปีในพื้นที่ภาคเหนือของเวียดนาม โดยเป็นกำลังการผลิตใหม่ 1.65 ล้านตารางเมตรต่อปี และทดแทนกำลังการผลิตเดิมอีก 4.95 ล้านตารางเมตรต่อปี คาดว่าจะแล้วเสร็จต้นปี 2568

ในไตรมาส 3/2566 บริษัทฯ ได้เริ่มเดินเครื่องจักรสายการผลิตใหม่ที่โรงงาน Dai Loc ในเวียดนาม มีกำลังการผลิตกระเบื้องเซมิ-เกลซ พอร์ซเลน (Semi- Glazed Porcelain) และกระเบื้องขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น 1.38 ล้านตารางเมตรต่อปี นอกจากนี้ยังเตรียมแผนลงทุนโรงงานในพื้นที่ภาคใต้ของเวียดนามเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดอีกด้วย ส่วนในประเทศไทยได้เริ่มเดินเครื่องจักรสายการผลิตใหม่ที่โรงงานหนองแค สระบุรี เพื่อผลิตกระเบื้องขนาด 60×60 เซนติเมตร มีกำลังการผลิต 4.32 ล้านตารางเมตรต่อปี คาดว่าจะเพิ่มยอดขายได้มากขึ้นเนื่องจากเป็นขนาดที่นิยมในตลาด” นายนำพล กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีกลยุทธ์หลักที่สำคัญ ได้แก่ ขยายผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่องให้ครอบคลุมการตกแต่งยิ่งขึ้น ตอกย้ำความเป็นผู้นำในการให้บริการแบบครบวงจรในธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ บริหารการผลิตและการจัดหาสินค้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยผสานความร่วมมือกับโรงงานแต่ละประเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริหารต้นทุน รวมถึงมุ่งสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์รักษ์โลกและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยในไตรมาสที่ผ่านมา ได้เริ่มโครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์และโครงการใช้ชีวมวลผลิตลมร้อนในกระบวนการผลิตผงดิน ซึ่งช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานลงได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

ปัจจุบัน SCGD เป็นผู้นำธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน โดยมียอดขายกระเบื้องเซรามิกอันดับ 1 ในไทย เวียดนามและฟิลิปปินส์ รวมถึงมียอดขายสุขภัณฑ์อันดับ 1 ในไทย และมีแบรนด์สินค้าเป็นที่ยอมรับในภูมิภาค โดยมีธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจตกแต่งพื้นผิว (Decor Surfaces)

ประกอบด้วย กระเบื้องปูพื้น บุผนัง กระเบื้องไวนิล SPC และกระเบื้องไวนิล LVT (Luxury Vinyl Tile) รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น กาวซีเมนต์ กาวยาแนว เป็นต้น และ ธุรกิจสุขภัณฑ์ ได้แก่ สุขภัณฑ์ ก๊อกน้ำ และอุปกรณ์ห้องน้ำ โดยมีฐานการผลิตในประเทศ ไทย เวียดนามและฟิลิปปินส์ และช่องทางจัดจำหน่ายหลากหลายรูปแบบและครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาค รวมถึงส่งออกสินค้ากว่า 57 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา, เยเมน ไต้หวัน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, กัมพูชา เป็นต้น

นายสมิทธิ โกสีย์เจริญ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน SCGD กล่าวถึงภาพรวมผลการดำเนินงานปี 2563-2565 ว่า บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 24,378.6 ล้านบาท 25,937.4 ล้านบาท และ 30,253.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% และ 16.6% จากปีก่อน ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิ 1,235.9 ล้านบาท 1,401.9 ล้านบาท และ 1,320.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.4% และลดลง 5.8% จากปีก่อน ตามลำดับ (หลังปรับปรุงรายการที่ไม่เกิดขึ้นประจำ)

ขณะที่ผลการดำเนินงาน ภาพรวม 9 เดือนแรกปี 2566 มีรายได้จากการขาย 21,522 ล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้หลักมาจากธุรกิจตกแต่งพื้นผิว 77% และสุขภัณฑ์ 18% ส่วนที่เหลืออีก 5% มาจากธุรกิจอื่นๆ และมีกำไรสุทธิ 760 ล้านบาท (หลังปรับปรุงรายการที่ไม่เกิดขึ้นประจำ) ชะลอตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้ที่ลดลงของธุรกิจตกแต่งพื้นผิวในเวียดนามซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤติอสังหาริมทรัพย์

อย่างไรก็ตาม รายได้จากการขายในไตรมาส 3/2566 เท่ากับ 7,186 ล้านบาท และกำไรสุทธิเท่ากับ 280 ล้านบาท (หลังปรับปรุงรายการที่ไม่เกิดขึ้นประจำ) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมเศรษฐกิจที่ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วและตลาดมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในปีหน้า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ย. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top