น.สพ.ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรม เสนอร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 พ.ศ. … ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว
โดยจะเป็นการยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ทั้งฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิก หรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็น หรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต หรือการประกอบอาชีพ เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และให้กำหนดโทษอาญา เฉพาะความผิดร้ายแรงเท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับข้อ 11 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิการเมือง ที่กำหนดให้บุคคลจะถูกจำคุก เพียงเพราะเหตุว่าไม่สามารถปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญา มิได้
“หลังจากปี 2534 มาแล้ว ได้มีข้อตกลงกับนานาชาติหลายอย่าง มีหลักการว่า หากเช็คไม่สามารถขึ้นเงินได้ ความผิดนี้ ควรเป็นความผิดแค่ในทางแพ่ง ไม่ถึงขั้นต้องติดคุก ดังนั้น กระทรวงยุติธรรม จึงเสนอภายใต้หลักการนี้ และครม.เห็นชอบ ซึ่งกระทรวงยุติธรรม ได้เสนอให้ออก พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.ความผิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 คือเป็นการออก พ.ร.บ.เพื่อยกเลิกกฎหมายฉบับเดิมทั้งฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการที่ให้มีกฎหมายเฉพาะเท่าที่จำเป็น รวมถึงปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็น หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต และกำหนดโทษเฉพาะที่เป็นความผิดทางอาญาร้ายแรงจริงๆ” นายชัย ระบุ
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว คือ
1. กำหนดมาตรการเพื่อรองรับ กรณีที่เจ้าหนี้ได้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีอาญาแล้ว และในกระบวนพิจารณาของศาล เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้ตกลงให้มีการผ่อนชำระเงินตามข้อตกลงที่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณา โดยให้ถือว่าข้อตกลงดังกล่าว เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามกฎหมาย และหากต่อมา ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำขอต่อศาลให้ออกคำบังคับได้ โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่
2. กำหนดศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาและพิพากษาคดีในส่วนแพ่ง
3. กำหนดมาตรการเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อปล่อยตัวผู้ต้องโทษ
(1) ในกรณีของผู้ที่อยู่ระหว่างการต้องโทษจำคุก (2) ในกรณีของผู้ที่อยู่ระหว่างการคุมประพฤติหรือการพักการลงโทษ
4. กำหนดวิธีการคำนวณโทษจำคุก ในกรณีที่ผู้ต้องโทษจำคุกได้รับโทษจำคุกสำหรับความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค และความผิดตามกฎหมายอื่น ซึ่งเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน และถ้าโทษที่ได้รับไปแล้วเท่ากับหรือเกินโทษที่ได้รับสำหรับการกระทำความผิดตามกฎหมายอื่นนั้น ให้ปล่อยตัวผู้ต้องโทษโดยทันที
5. กำหนดให้ รมวงยุติธรรม รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
โฆษกรัฐบาล กล่าวด้วยว่า ได้มีข้อสังเกตเพิ่มเติมจากสมาคมธนาคารไทย ที่ไม่เห็นด้วยหากจะมีการยกเลิก พ.ร.บ.ความผิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ทั้งฉบับ เพราะเจ้าหนี้อาจไม่ได้รับความเป็นธรรม และเห็นว่าควรมีกฎหมายกำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้ที่มีเจตนาจะออกเช็คโดยไม่สุจริต กล่าวคือ ต้องแยกเป็นกรณีระหว่างผู้ที่จงใจจะออกเช็คโดยไม่สุจริต กับผู้ที่ไม่ได้จงใจทุจรติ คือ ออกเช็คไปแล้วแต่เงินหมุนไม่ทันจริงๆ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองเจ้าหนี้
อย่างไรก็ตาม หรือหากไม่สามารถดำเนินการได้ ควรมีการออกมาตรการคู่ขนาน เช่น หากเช็คของผู้ใดเด้ง ก็ให้สถาบันการเงินส่งข้อมูลผู้นั้นไปให้เครดิตบูโร เพื่อให้สถาบันการเงินอื่นสามารถใช้ข้อมูลนี้ประกอบการพิจารณาที่จะไม่อนุญาตให้ผู้นั้นใช้เช็ค หรือมีระยะเวลาห้ามใช้เช็ค 3 ปี หรือการเพิ่มค่าปรับเป็น 2 เท่า เป็นต้น ซึ่ง ครม.ก็เห็นชอบในส่วนนี้ และขอให้กระทรวงยุติธรรม รับข้อสังเกตจากสมาคมธนาคารไทย ไปพิจารณา เพื่อหาวิธีปฏิบัติควบคู่กันไปด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ย. 66)
Tags: กฎหมายแพ่งและพาณิชย์, ชัย วัชรงค์, เช็ค, เช็คเด้ง