สภาพัฒน์ คาด GDP ปี 67 โต 3.2% ไม่รวมดิจิทัลวอลเล็ตยันไม่วิกฤต แนะโฟกัสปรับโครงสร้าง-เร่งส่งออกลงทุน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ระบุว่า สภาพัฒน์ได้คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 67 ว่าจะเติบโตได้ 3.2% ซึ่งการขยายตัวในระดับดังกล่าวนี้ ยังไม่ได้รวมผลจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทของรัฐบาล เนื่องจากต้องรอคำวินิจฉัยจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าการทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล จะมีแหล่งเงินจากที่ใด ตลอดจนต้องรอดูความชัดเจนในประเด็นอื่นๆ ด้วย เช่น รูปแบบการใช้จ่าย

“GDP ปี 67 สภาพัฒน์ยังไม่ได้รวมเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตไว้ เพราะสุดท้ายแล้วคงต้องรอดูว่านโยบายนี้จะใช้วงเงินเท่าไร ใช้เงินจากแหล่งไหน ใช้เงินกู้ หรือไม่ใช้ และซึ่งคงต้องรอคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน ซึ่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้ดำเนินการไปตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความรอบคอบ”

เลขาธิการสภาพัฒน์ระบุ

นายดนุชา ตอบคำถามว่าเศรษฐกิจไทยถึงขั้นวิกฤตหรือไม่ว่า ตั้งแต่หลังผ่านสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจไทยก็มีความผันผวนมาตลอดโดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินเฟ้อสูง ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวการที่คาด ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ในขณะที่เศรษฐกิจภายในของไทยเองยังสามารถเติบโตได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค หรือการท่องเที่ยว

“โดยรวม เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี แต่หากจะให้ดีกว่านี้ ก็ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาคใหญ่ และมีความเกี่ยวข้องกับการส่งออก” เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุ

แนะปรับโครงสร้างการผลิต-เร่งรัดส่งออก, ลงทุน เพื่อการเติบโตระยะยาว

นายดนุชา ระบุว่า การผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้นั้น สามารถทำได้จากหลายส่วนประกอบกัน แต่ที่เป็นเรื่องหลัก คือ เรื่องการส่งออก ซึ่งต้องทำทั้งเร่งรัดการส่งออกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนเรื่องการลงทุน ที่ต้องผลักดันให้เกิดการลงทุนมากขึ้น ทั้งภาครัฐและเอกชน

ส่วนที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปีหน้าไว้ที่ระดับ 5% นั้น นายดนุชา มองว่า เป็นเป้าหมายในการบริหารด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งการจะทำให้เศรษฐกิจไทยไปถึงระดับนั้นได้ ต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากทั้งด้านการส่งออก และการลงทุนเป็นสำคัญ เร่งส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในเรื่องเสถียรภาพการเติบโตของประเทศในระยะยาว ตลอดจนการท่องเที่ยว ที่ต้องทำให้เป็นการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพ เพื่อสามารถเพิ่มยอดใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น และใช้เวลาอยู่ในไทยนานขึ้น

นายดนุชา กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ไม่เช่นนั้นการเติบโตจะอยู่ในระดับแค่ 3%กว่าไปแบบนี้ โดยต้องเร่งปรับโครงสร้างการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาคใหญ่ที่มีผลต่อการเติบโตของประเทศ ส่วนประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 66 ที่คาดว่าจะโตได้ 2.5% และปี 67 โตได้ 3.2% นั้น ถือว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ต่อ

ส่วนการทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต มูลค่า 5 แสนล้านบาท จะทำให้การเพิ่มพื้นที่ในการดำเนินนโยบายการคลัง (Policy space) ลดลงหรือไม่นั้น นายดนุชา กล่าวว่า การเพิ่ม Policy space สามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้, การจัดลำดับความสำคัญในการใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งการที่สภาพัฒน์ เสนอแนะให้มี Policy space เพียงพอนั้น เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะต่อไป รวมทั้งเพื่อสร้างความแข็งแรงด้านการคลัง ไว้รองรับกับความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางที่อาจจะขยายวงกว้างออกไป

“ในช่วงโควิด เรามีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ 44% ยังเหลืออีก 16% ถึงจะชนเพดาน (เดิมเพดานหนี้สาธารณะอยู่ที่ 60%) แต่พอปัญหาโควิดเข้ามากระทบเศรษฐกิจไทย เราต้องกู้เงินเพื่อพยุงเศรษฐกิจ จะเห็นว่า policy space ที่เหลืออยู่ 16% นั้น หายไปเร็วมาก เพราะฉะนั้น ในแง่การรองรับความเสี่ยงช่วงถัดไป สภาพัฒน์เห็นว่าเราต้องสร้าง policy space ให้เพียงพอ สร้างความแข็งแรงด้านการคลัง เพื่อรองรับความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้น”

นายดนุชา ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ย. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top