นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 41 หัวข้อ “The time to act is now พลิกวิกฤต ฟื้นเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน” ระบุว่า จากการเดินทางไปร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 ที่ผ่านมา และได้พบปะกับผู้นำประเทศต่าง ๆ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนชั้นนำของต่างประเทศ เช่น Facebook Tesla Google Microsoft สนใจที่จะมาลงทุนในไทยอย่างมาก ซึ่งประเทศไทยแม้จะเป็นประเทศเล็ก ๆ แต่ก็มีจุดยืนของตนเองด้านการค้าขายมาโดยตลอด พร้อมย้ำว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในหลายด้านทั้งเรื่องความพร้อมด้านคมนาคม โดยเฉพาะเรื่องของ Clean Energy ซึ่งเป็นนโยบายหลักของประเทศ เรื่อง Health Care โรงเรียน International ฯลฯ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้หลายคนพูดถึงการเดินทางไปร่วมประชุมเอเปค ครั้งที่ 30 ประสบความสำเร็จอย่างสูงนั้นว่า ตนยังไม่มองแบบนั้น แต่มองว่ายังสามารถทำได้อีกมาก โดยในวันพรุ่งนี้จะมีการนัดทีมที่ไป แต่ละหน่วยงาน แต่ละกระทรวง กรม ต้องไปทำการบ้านอย่างไรต่อ เพื่อให้มั่นใจว่าการลงทุนนั้นเกิดขึ้นได้จริง ๆ
นายกฯ ได้กล่าวย้ำถึงวัตถุประสงค์การเดินทางไปเยือนต่างประเทศว่า เพื่อเชิญชวนให้นักลงทุนมาลงทุนในไทยผ่านการได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่นักลงทุนจะได้รับ เช่น มาตรการสนับสนุนด้านภาษี และมาตรการต่าง ๆ ที่สามารถ Offer นักลงทุนต่างประเทศให้มาลงทุนในไทยได้ อย่างไรก็ตามในเรื่องของ FTA ยังล้าหลังอยู่ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไทยมีการเจรจาเรื่องนี้น้อยมาก ซึ่งเรื่องของ FTA จะเป็นอีกหนึ่งวาระที่สำคัญของรัฐบาลนี้ที่จะเดินหน้าเต็มที่และทำให้เกิดผลโดยเร็ว ซึ่งจากการที่ได้เดินทางไปต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีก็ได้มีการปูทางไว้แล้ว เช่น ที่ออสเตรเลียถึงแม้มีเรื่อง FTA แล้วแต่ก็จะมีการอัปเกรด FTA ขึ้นไปอีก และจะมีการขยายไปในอีกหลายประเทศต่อไปด้วย
นอกจากนี้ เห็นด้วยที่ทางหอการค้าแห่งประเทศไทยจะเริ่มขับเคลื่อนใน 4 เมืองรอง และขยายไปสู่จังหวัดอื่น ๆ ด้วย เพราะถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลนี้โดยจะพยายามทำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งต่างประเทศก็ให้ความสนใจในเรื่องนี้ด้วย ไม่เฉพาะการท่องเที่ยวเมืองหลัก เช่น เชียงใหม่ กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต เท่านั้น เพราะต่างประเทศมองว่าหลายจังหวัดของไทยยังมีศักยภาพอยู่มากทั้งเรื่องวัฒนธรรม Soft Power และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่ต้องการให้ไทยมีการพัฒนาให้มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น เรื่องการพัฒนาสนามบินต่าง ๆ ของไทย ทั้งสุวรรณภูมิ ภูเก็ต พังงา เชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเมกะโปรเจกต์ที่ต้องดำเนินการให้เกิดขึ้นตามแผน
ทั้งนี้ หลายเมืองรองต้องมีการเตรียมความพร้อมในหลายมิติเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเที่ยวให้มากขึ้น ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกัน โดยสิ่งสำคัญคือระยะเวลาที่นักท่องเที่ยวมาอยู่ในเมืองไทย ดังนั้นการดึงให้นักท่องเที่ยวให้อยู่นานและไปท่องเที่ยวในเมืองรองด้วย ต้องมีการขยายระยะเวลาให้นักท่องเที่ยวอยู่ได้นานขึ้น ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ในทุกมิติรองรับด้วย ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รวมถึงด้านการเดินทางคมนาคมขนส่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ โดยจะให้ทีมงานนัดเพื่อหารือกันในเรื่องดังกล่าวต่อไป เช่น เรื่องของ Incentive เมืองรองคืออะไร การสนับสนุนจากรัฐบาลที่ต้องการคืออะไร เป็นต้น
สำหรับกรณีเรื่องนโยบายเงิน Digital Wallet ที่มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้แสดงความเห็นถึงเรื่องนี้เมื่อวานนี้ (18 พ.ย.) ว่า ความจริงแล้วปัจจัยหลักอยู่แค่นี้ คือ เร่งด่วน จำเป็น วิกฤติหรือไม่ ซึ่งก็มีบางคนเห็นว่า ไม่เร่งด่วน ไม่จำเป็น ไม่วิกฤติ แต่รัฐบาลนี้เห็นว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น เร่งด่วน และสภาพเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะที่วิกฤต แต่ประเทศไทยไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก เราอยู่บนโลกของการแข่งขันที่สูงมาก
นายกฯ ย้ำว่า รัฐบาลนี้และรัฐมนตรีทุกคนทำงานหนัก ซึ่งดิจิทัลวอลเล็ตก็เป็นนโยบายหนึ่งของรัฐบาลเช่นกันที่จะทำให้เกิดผลทางเศรษฐกิจด้วย หากย้อนกลับไปดูประเทศคู่แข่งของไทย เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ จะพบว่าตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวขยายตัวไปเท่าไหร่ในปีที่ผ่านมาเมื่อเปรียบเทียบกับไทย ซึ่งเชื่อว่าทุกคนทราบดีว่าไทยสามารถทำได้และไปไกลได้อีก ทั้งนี้ 9-10 ปีที่ผ่านมา การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยเฉลี่ยต่ำกว่า 2% พักหนี้เกษตรกรไป 13 ครั้ง
อีกทั้งเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลก็ได้ดำเนินการดูแลประชาชนทุกกลุ่ม เช่น พักหนี้เกษตรกร การลดค่าไฟฟ้า การลดค่าน้ำมันเบนซินและดีเซล การสนับสนุน Short Quick Win การสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวด้วยการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวัน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นมาตรการเร่งด่วนของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการแล้ว รวมไปถึงการดำเนินการเรื่องของการยกเว้น ตม.6 ซึ่งเป็นแบบฟอร์มที่นักท่องเที่ยวมาเลเซียจะสามารถเดินทางเข้ามาในไทยได้ง่ายขึ้น ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวมาเลเซียเดินทางเข้ามาไทยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในวันศุกร์-อาทิตย์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่วันละประมาณ 30,000 คน จากเดิมอยู่ที่ 10,000 คนต่อวัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 พ.ย. 66)
Tags: หอการค้าไทย, เมืองรอง, เศรษฐกิจไทย, เศรษฐา ทวีสิน