สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การตัดสินใจของคณะบริหารของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐในการถอดองค์กรจีนออกจากรายชื่อการคว่ำบาตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงเพื่อต่อสู้กับวิกฤตเฟนทานิล สะท้อนให้เห็นถึงการยินยอมต่อข้อเรียกร้องของจีนเกี่ยวกับการผ่อนปรนมาตรการจำกัดทางการค้าของสหรัฐ
เจ้าหน้าที่จากคณะบริหารของปธน.ไบเดนรายหนึ่งกล่าวโดยไม่เปิดเผยชื่อว่า การถอดสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ออกจากบัญชีดำของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเป็นวิธีเดียวที่สหรัฐจะสามารถสร้างความคืบหน้าเรื่องเฟนทานิลกับจีนได้
รายงานระบุว่า บัญชีดำถูกใช้มาเป็นเวลาหลายปีในฐานะหนึ่งในเครื่องมือของสหรัฐเพื่อดำเนินมาตรการคว่ำบาตรและลงโทษบุคคล บริษัท หรือองค์กรอื่น ๆ ในจีนและสถานที่อื่น ๆ สำหรับการกระทำที่สหรัฐอ้างว่าอาจกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ขณะที่จีนกล่าวว่า นโยบายบัญชีดำและมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวเป็นความพยายามในการสกัดการพัฒนาและสร้างความเสียหายต่อบริษัทของจีน
นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐ ปธน.ไบเดนได้ยกระดับการใช้บัญชีดำของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเพื่อลงโทษบริษัทจีน โดยจากการคำนวณของสำนักข่าวบลูมเบิร์กพบว่า ปธน.โจไบเดนได้ประกาศขึ้นบัญชีดำหน่วยงานจีนแล้ว 304 แห่งเมื่อนับจนถึงกลางเดือนพ.ย. โดยตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับหน่วยงาน 306 แห่งที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐขึ้นบัญชีดำตลอดสมัยการดำรงตำแหน่งของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และมากกว่าตัวเลขในช่วงการบริหารของประธานาธิบดีคนอื่น ๆ ของสหรัฐ
นายเจอราร์ด ดิปิปโป นักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ (Bloomberg Economics) ซึ่งเคยทำงานในรัฐบาลสหรัฐจนถึงปี 2564 ระบุว่า “คณะบริหารของปธน.ไบเดนให้ความสำคัญกับการคว่ำบาตร ขณะที่ฝ่ายบริหารของอดีตปธน.ทรัมป์ให้ความสำคัญกับเรื่องการปรับขึ้นภาษีมากกว่า”
ทั้งนี้ การถอดถอนองค์กรใด ๆ ออกจากบัญชีดำเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยปรากฎให้เห็น โดยรายงานล่าสุดของศูนย์การศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ (CSIS) ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2551 มีองค์กรเพียงประมาณ 7 แห่งเท่านั้นที่ถูกถอดออกจากบัญชีดำสหรัฐในแต่ละปี เช่น ในปี 2560 แซดทีอี คอร์ปอเรชันถูกถอดออกจากบัญชีดำ หลังจากรับสารภาพว่าละเมิดมาตรการคว่ำบาตรการค้าที่สหรัฐบังคับใช้กับอิหร่าน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ย. 66)
Tags: จีน, สหรัฐ, เฟนทานิล, โจ ไบเดน