IFEC ยันเดินหน้าฟื้นฟูกิจการ หวังกลับมาเทรดอีกครั้ง แม้ถูกขัดขวาง

บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงานของบริษัทว่า คณะกรรมการปัจจุบันมีความตั้งใจจะนำบริษัทเข้าฟื้นฟูกิจการ และดำเนินการให้หุ้นของบริษัทกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกครั้งโดยเร็ว ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ทุกราย แต่เนื่องจากมีผู้คัดค้านได้ขอเลื่อนนัดสืบพยาน เพื่อจะสืบพยานปาก นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจของผู้คัดค้านที่ 3 ในคดีฟื้นฟูกิจการ โดยมีกำหนดนัดสืบพยานอีกครั้งในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 รวมถึงมีกลุ่มผู้เสียประโยชน์ขัดขวาง รวมถึงจึงทำให้กรอบระยะเวลาในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของบริษทจำต้องขยายระยะเวลาออกไป

นอกจากนี้ทางบริษัทได้รับทราบข้อมูลจากสื่อทางออนไลน์ว่า มีกลุ่มบุคคลพยายามเผยแพร่ข้อมูลว่าชักชวนผู้ถือหุ้นรวมตัวกัน และให้ลงนามหนังสือมอบอำนาจดำเนินคดีอาญากับคณะกรรมการบริษัท เพื่อประสงค์ให้คณะกรรมการบริษัทซื้อหุ้นของผู้ถือหุ้นตามมูลค่าที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายได้ลงทุนไป บริษัทฯ ขอให้ผู้ถือหุ้นโปรดใช้ความระมัดระวังข่าวปลอมดังกล่าว รวมถึงได้ใช้ความระมัดระวังการลงนามในเอกสารหรือหนังสือมอบอำนาจให้เป็นไปตามเจตนาที่แท้จริง

โดยขอเรียนว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาคณะกรรมการปัจจุบันได้ดำเนินการต่างๆ และมีความคืบหน้า ดังนี้

1. แก้ไขเหตุเพิกถอนจากการที่อดีตกรรมการ ไม่จัดทำและจัดส่งงบการเงิน จนกระทั่งปัจจุบันอยู่ระหว่างช่วงระยะเวลาดำเนินการใหม่คุณสมบัติเพื่อกลับมาซื้อขาย (Resume Stage)

2. บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ซึ่งการฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎหมายล้มละลายเป็นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้บริษัทมีคุณสมบัติเพื่อกลับมาซื้อขาย

3. ความร่วมมือของกลุ่มบริษัททั้งกลุ่มพลังงานลม (Iwind) และพลังงานแสงอาทิตย์ ในการผลักดันการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทให้เป็นไปตามแนวทาง ทั้งด้านธุรกิจและการจัดทำรายงานทางการเงินต่างๆ

4. การต่อสู้คดีที่มีกลุ่มบุคคลได้ชักชวนให้ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้ฟ้องร้องดำเนินคดีอาญากับบริษัท , กรรมการและผู้ที่กี่ยวข้องกับบริษัท ฯ และบริษัทในเครือโดยอ้างเหตุเดียวกัน แต่แยกฟ้องเป็นหลายคดีเสมือนว่า มีการกระทำความผิดหลายครั้ง คดีบางส่วนโจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นดังกล่าวมีการถอนฟ้อง และยกฟ้อง โดยในหลายคดีศาลได้มีคำพิพากษาไว้ชัดเจนว่าการฟ้องคดีในลักษณะดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต และจนถึงปัจจุบันยังไม่เคยมีคำพิพากษาให้ลงโทษคณะกรรมการบริษัทแต่อย่างใด นอกจากนี้ในการดำเนินคดีดังกล่าวมีลักษณะที่เป็นการกระทำการโดยไม่สุจริตตามกฎหมาย บริษัทจะใช้สิทธิตามกฎหมายฟ้องผู้ถือหุ้นและพยานผู้บิกความดังกล่าวทุกคดีต่อไป

5. ติดตามเงินมัดจำโครงการต่างๆ ที่อดีตกรรมการได้นำเงินไปวางมัดจำการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่อมาได้ยุติการดำเนินการโดยไม่ได้มีการติดตามเงินซึ่งมีมูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งสามารถติดตามคืนได้แล้ว 1 โครงการและอยู่ระหว่างการดำเนินคดีอีก 7 โครงการ

คณะกรรมการบริษัทมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตเพื่อนำพาบริษัทให้ฟื้นฟูกิจการและกลับมาซื้อขายในตลาดได้อีกครั้งตามความตั้งใจภายในระยะเวลาอันใกล้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ย. 66)

Tags: , ,
Back to Top