กมธ.ต่างประเทศ จี้รัฐเร่งทำ FTA ไทย-อียู/ไทย-อังกฤษ ห่วงช้าเสียโอกาส

นายนพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กมธ.ต่างประเทศ ได้ติดตามความคืบหน้าการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) ของไทย ทราบว่าปัจจุบันมีความตกลง FTA 14 ฉบับกับ 18 ประเทศคู่ค้า ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู ชิลี และฮ่องกง

โดยความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ถือเป็น FTA ฉบับล่าสุดของไทย ซึ่งการใช้สิทธิจะสามารถทำให้ผู้ส่งออกไทย ลดหรือยกเว้นภาษีศุลกากรขาเข้า ณ ประเทศปลายทางได้ เป็นการสร้างแต้มต่อทางภาษีและกระตุ้นการสั่งซื้อได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ กมธ.ต่างประเทศ ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับความคืบหน้าการเจรจา FTA ไทย-อังกฤษ และไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเริ่มเจรจาในสมัยรัฐบาลที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แต่หลังจากเกิดรัฐประหารในปี 2557 ทางอียูได้หยุดการเจรจากับไทย และหลังการเลือกตั้งปี 2562 ก็มีการเริ่มเจรจากันใหม่แต่ไม่คืบหน้า จนกระทั่งมีรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งปี 2566 จึงมีการกลับมากำหนดกลไกการเจรจากันอีกครั้ง

“ข้อตกลง FTA ไทย-อียู จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าไทย ดึงดูดการลงทุน สร้างงาน สร้างรายได้เพิ่มขึ้น ผลักดันให้ GDP ของไทยขยายตัว 1.28% เพราะอียูเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทย รองจากจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น” นายนพดล กล่าว

โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทย-อียู มีมูลค่า 41,038.1 ล้านดอลลาร์ เพิ่ม 2.9% คิดเป็นสัดส่วน 7% ของการค้าไทยกับโลก นอกจากนั้น ในส่วนของ FTA ไทย-อังกฤษ หลังจากอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกอียูในปี 2563 ไทยและอังกฤษได้ลงนาม MOU จัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (JETCO) ในปี 2564 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

“กมธ.เห็นว่า ควรเร่งเจรจาทำ FTA ไทย-อังกฤษด้วยเช่นกัน เนื่องจากอังกฤษเป็นคู่ค้าอันดับที่ 22 ของไทย โดยในปี 2565 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 6,198.48 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 12.25% ผลการศึกษาเรื่องการจัดทำ FTA ไทย-อังกฤษ จะช่วยให้ GDP ของไทยขยายตัวประมาณ 0.04-0.07% และการส่งออกสินค้าของไทย จะเพิ่มขึ้นประมาณ 777-1,659 ล้านดอลลาร์

นายนพดล กล่าวว่า กมธ.ต่างประเทศประเมินว่า การเจรจา FTA ไทย-อียู และไทย-อังกฤษ ล่าช้าไปร่วม 10 ปี และไม่คืบหน้าเท่าที่ควร จึงเสนอแนะรัฐบาล 3 ข้อ ดังนี้ 1. รัฐบาลควรมีเจตจำนงทางการเมืองให้ชัดเจน และกำหนดกรอบเวลาการเจรจาให้เสร็จเช่น 1 หรือ 2 ปี 2.เร่งรับฟังความเห็นของภาคส่วนที่อาจได้รับผลกระทบจากข้อตกลง FTA และหามาตรการเยียวยาไว้ล่วงหน้า 3. นอกจากการเจรจา FTA ไทย-อียู และ FTA ไทย-อังกฤษ แล้ว รัฐบาลควรกำหนดเป้าหมายการเจรจา FTA กับประเทศในภูมิภาคอื่นๆว่าจะทำกับประเทศใดบ้าง และจะเสร็จเมื่อใด

“กรอบระยะเวลาในการเจรจา FTA ที่ปกติใช้เวลาประมาณ 2 ปี อาจล่าช้าเกินไป ทำให้ประเทศเสียโอกาส และความสามารถในการแข่งขันไปมาก จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนกรอบการดำเนินงานให้กระชับและรวดเร็วขึ้น และหวังว่า นายกรัฐมนตรีจะหยิบยกการเจรจา FTA ไทย-อังกฤษ ในการเยือนอังกฤษเร็วๆ นี้ ซึ่ง กมธ.จะคอยติดตามความก้าวหน้าต่อไป” นายนพดล กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ย. 66)

Tags: , , ,
Back to Top