ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า อุตสาหกรรมอาหารทะเลในปี 2567 และระยะ Medium-term มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของผู้บริโภคทั้งในไทยและตลาดโลก ที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ยังจำเป็นต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง และอาจเติบโตต่ำกว่าคาด รวมถึงผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่มีแนวโน้มลุกลามขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และความต้องการบริโภคอาหารทะเลของผู้บริโภคในระยะต่อไปได้
ทั้งนี้ SCB EIC คาดว่า มูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องของไทยในปี 2567 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 5.5%YOY หลังจากคาดว่าจะหดตัวในปีนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ส่งผลให้อุปทานปลาทูน่าลดลง โดยปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหนุนการเติบโตในปีหน้า มาจากความต้องการในประเทศคู่ค้าที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกจะยังคงอยู่ต่ำกว่าช่วง Pre-COVID (2558-2562) เล็กน้อย ขณะที่ต้นทุนของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัตถุดิบทูน่า และต้นทุนการออกจับปลา ยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยดังกล่าว จะยังคงกดดันอัตรากำไรของผู้ประกอบการในระยะต่อไป
ส่วนมูลค่าการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน โดยคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตในปีหน้า ราว 4%YOY หลังจากที่คาดว่าจะหดตัว -11.4%YOY ในปีนี้ จากแรงหนุนของความต้องการนำเข้าในประเทศคู่ค้าสำคัญที่ทยอยฟื้นตัว ทั้งนี้หากพิจารณาเป็นรายสินค้า จะพบว่าการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ฟื้นตัวได้เร็วกว่ากุ้งแปรรูป โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งไปยังตลาดจีนที่เติบโตดี ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากการยกเลิกนโยบาย Zero COVID ของทางการจีนที่ทำให้การส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาขยายตัวสูง
อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดในระยะต่อไปคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญอย่างจีน และนโยบายสร้างความมั่นคงด้านอาหาร (Food security policy) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการนำเข้าสินค้ากุ้งจากไทยในระยะต่อไปได้
SCB EIC ระบุถึงประเด็นสำคัญ และความท้าทาย ที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารทะเล มีดังนี้
1. มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง ESG การทำประมงอย่างยั่งยืน (Sustainable fishing) และการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม (Fair labor practices) เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการในธุรกิจประมง จำเป็นต้องให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และลดอุปสรรคจากข้อกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) ต่าง ๆ เหล่านี้
2. การแข่งขันจากสินค้านวัตกรรมทางเลือกใหม่ ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ประเภท Plant-based seafood ที่มีการวิจัยและพัฒนาออกมาอย่างหลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มีแนวโน้มหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ และนิยมบริโภคโปรตีนทางเลือกจากพืชมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน
3. นโยบายการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร (Food security) ของคู่ค้าหลักอย่างจีน ส่งผลให้จีนมีแนวโน้มทยอยลดการนำเข้าและพึ่งพาการผลิตภายในประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งนโยบายดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาตลาดจีนเป็นหลัก ซึ่งรวมถึงสินค้าประมง อย่างกุ้งสดแช่เย็น-แช่แข็ง
“จากความท้าทายดังกล่าว SCB EIC มองว่า ผู้ประกอบการควรเร่งปรับปรุง และพัฒนากระบวนการผลิต ให้สอดรับกับกฎระเบียบและมาตรฐานสากล โดยเฉพาอย่างยิ่งประเด็นด้าน ESG เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และลดอุปสรรคทางการค้าต่าง ๆ รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่มีความหลากหลาย และแปลกใหม่ และหาแนวทางสร้างมูลค่าเพิ่มจาก By-product ในกระบวนการผลิต พร้อม ๆ ไปกับการมองหาตลาดส่งออกสินค้าประมงใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงและหลีกหนีการแข่งขันในตลาดส่งออกเดิม” บทวิเคราะห์ ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ย. 66)
Tags: SCB EIC, ธนาคารไทยพาณิชย์, ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ, อาหารทะเล, อุตสาหกรรม, เศรษฐกิจไทย