น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมหารือการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินและการเผชิญเหตุในพื้นที่กรุงเทพฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุการณ์กราดยิงที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน ทำให้ประชาชนมีการทวงถามถึงระบบการแจ้งเตือนภัยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินที่ค่อนข้างรุนแรง
โดยก่อนหน้านี้ กทม.ได้มีการหารือกับสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยทาง กสทช. จะดำเนินการศึกษาระบบเทคนิคเกี่ยวกับ Operator เครือข่ายโทรศัพท์ด้วยระบบว่าจะสามารถส่งข้อมูลอย่างไร
ขณะเดียวกัน สัปดาห์ก่อน กทม.ได้เข้าร่วมประชุมกับรองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับระบบเตือนภัยทั้งหมด พบว่า ความยากของการจัดการระบบ คือ เนื้อหาของเหตุการณ์ ยกตัวอย่าง กรณีเหตุการณ์กราดยิง หรือเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกี่ยวข้องกับวินาศกรรม จะข้องเกี่ยวกับหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะเมื่อเกิดในพื้นที่เอกชนหรือพื้นที่ปิด การที่จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนนั้น ข้อมูลดังกล่าวต้องถูกกรอง และเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง อีกทั้งเมื่อแจ้งเตือนแล้ว ต้องมีแนวปฏิบัติที่ถูกต้องให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่
ขณะเดียวกัน ยังไม่รวมถึงหน่วยงานในพื้นที่ทั้งสำนักงานตำรวจ สำนักงานเขต หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน หรือหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ จะต้องทำงานบูรณาการกันอย่างไร
รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ในอีกมุมหนึ่ง กทม.มองว่ามีภาวะฉุกเฉินบางประเภท เช่น อัคคีภัย ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกทม. อย่างเต็มรูปแบบ หากจะทำระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน (Emergency Alert) ก็สามารถทำเบื้องต้นในการรองรับระบบ และขั้นตอนการทำงานที่รัดกุมกับเรื่องของอัคคีภัยได้
ดังนั้นจึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมควบคุมมลพิษ และ กสทช. มาหารือร่วมกัน เพื่อตั้งคณะทำงาน และวางระบบขั้นตอนในการส่งข้อมูลแจ้งเตือน โดยเมื่อขั้นตอนการทำงานการแจ้งเตือนอัคคีภัยครบถ้วน จะทดสอบระบบเบื้องต้นใน Traffy Fondue ก่อน ซึ่งคาดว่าภายในเดือนม.ค. 67 จะสามารถทดสอบระบบได้ ในขณะเดียวกันด้าน กสทช.และ ดีอีเอส จะดำเนินการเรื่อง Operator ซึ่งหลังจากนั้น จะเป็นการเชื่อมระบบเข้าด้วยกัน
น.ส.ทวิดา กล่าวว่า ด้วยความที่เป็นเรื่องที่ต้องทำด้วยความรอบคอบและรัดกุม กทม. จึงขอเริ่มด้วยเหตุการณ์ที่เกิดบ่อย และจะขยายผลไปถึงเหตุการณ์ฉุกเฉินที่มีผู้คนเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีเงื่อนไขความเสี่ยง และความปลอดภัยที่สูงขึ้น เข้ามาเกี่ยวข้อง
“ความเป็นไปได้ ในการส่งข้อความแจ้งเตือนผ่านมือถือ ในทางเทคนิคสามารถทำได้ หากจะมีข้อจำกัดก็คงเป็นเรื่องของค่าใช้จ่าย และการจัดการระบบอย่างไรให้เชื่อมโยงกัน แต่สิ่งสำคัญคือการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน เป็นลักษณะการแจ้งคนละแบบ และมีการตอบสนองคนละอย่างกับการแจ้งเตือนภัยอื่น ดังนั้น จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และต้องมีความระมัดระวัง” รองผู้ว่าฯ กทม.ระบุ
ส่วนเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) น.ส.ทวิดา กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ มีการแจ้งเตือนสถานการณ์ล่วงหน้าถึง 7 วัน ทางกทม. ก็เชื่อมระบบนั้นเข้าด้วยกัน และนอกจากระบบที่เชื่อมเข้ากันดังกล่าว ยกตัวอย่าง เมื่อเกิดเหตุอัคคีภัยแล้วเกิดการไหม้วัตถุเป็นพิษ ควันที่เกิดขึ้นจะเป็นพิษระดับใด ต้องอพยพประชาชนหรือไม่ หลังเกิดเหตุประชาชนจะเข้าสู่พื้นที่อย่างไร ซึ่งภัยต่อเนื่องเช่นนี้ กรมควบคุมมลพิษก็จะสามารถทำงานร่วมกับ กทม. จากระบบนี้ได้ด้วยเช่นกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 พ.ย. 66)
Tags: Traffy Fondue, กทม., ทดสอบระบบ, ทวิดา กมลเวชช, สยามพารากอน, อัคคีภัย, เตือนภัยฉุกเฉิน