“โครงการ Digital Wallet ไม่ใช่แค่ความฝัน แต่กำลังเป็นความจริง” นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา ในระหว่างแจกแจงรายละเอียดเงื่อนไขโครงการแบบถี่ยิบ หลังเป็นที่ถกเถียงจากหลายฝ่ายมาร่วมหลายเดือนนับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลถึงความไม่ชัดเจนของเงื่อนไขโครงการ จากทั้งภาคประชาชน นักวิชาการ และฝ่ายค้าน
“อินโฟเควสท์” พามาไขข้อสงสัยเงื่อนไขโครงการดิจิทัลวอลเล็ต!
1. ใครได้รับสิทธิบ้าง?
– ผู้ที่อายุเกิน 16 ปี รายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาท/เดือน เงินฝากรวมทุกบัญชีน้อยกว่า 5 แสนบาท
2. ใช้ได้ที่ไหน วันไหน?
– ใช้จ่ายภายในอำเภอ แบบ Face to Face ต้องเริ่มใช้ภายใน 6 เดือนหลังได้รับสิทธิ คาดเริ่มราว พ.ค. 67 และใช้ได้ถึง เม.ย. 70
3. ซื้ออะไรได้-ไม่ได้บ้าง?
– “ใช้” ซื้อสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภคได้เท่านั้น โดยใช้ซื้อสินค้าได้ทุกร้านค้า ไม่ได้จำกัดแต่ร้านที่อยู่ในระบบภาษี
– “ไม่สามารถ” ใช้กับค่าบริการ, ใช้ซื้อสินค้าออนไลน์, ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม และผลิตภัณฑ์จากกัญชาและพืชกระท่อม, ซื้อบัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี, นำไปชำระหนี้, จ่ายค่าเรียน ค่าเทอม, นำไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ และแลกเป็นเงินสด แลกเปลี่ยนในตลาดต่างๆ ไม่ได้
4. เงื่อนไขร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ คือ?
– ไม่จำเป็นต้องจด VAT ร้านค้ารถเข็น ร้านโชห่วย ร้านค้าที่อยู่บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง ใช้ได้หมด แต่ต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิ และร้านค้าที่จะขึ้นเงินได้ต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น
โลกโซเชียลว่าไง หลังนายกฯ เปิดเงื่อนไขเงินดิจิทัลวอลเล็ต?
DXT360 แพลตฟอร์มติดตามข่าวสารและเสียงของผู้บริโภค (Social Listening) ของบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้รวบรวมการกล่าวถึง “ดิจิทัลวอลเล็ต” ในสื่อโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ยูทูบ ทวิตเตอร์ และติ๊กต็อก ตั้งแต่วันที่ 10-13 พ.ย. 66 ชาวโซเชียลได้มีการโพสต์และทวิตข้อความเกี่ยวกับดิจิทัลวอลเล็ต โดยมีจำนวนการกล่าวถึงและการมีส่วนร่วม หรือ Buzz (มาจากการกล่าวถึง (Mention) รวมกับการมีส่วนร่วม (Engagement)) 531,894 ครั้ง โดยอันดับหนึ่งมาจากช่องทางติ๊กต็อก
ชาวโซเชียลได้โพสต์แสดงความเห็นในแพลตฟอร์มต่างๆ อย่างหลากหลายหลังจากนายกฯ เปิดเงื่อนไขโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ส่วนใหญ่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตในเชิงไม่มั่นใจว่าจะทำได้ และยังไม่เห็นด้วยในหลายประเด็น อาทิ
– ดึงเวลาไป พ.ค. ปีหน้า พอถึงเวลาก็ดึงไปอีก อ้างติดขัดนั่นนี่ ไปแจกอีกทีคงต้องใกล้หาเสียงเลือกตั้ง กว่าจะถึงปีหน้าชาวบ้านคงกรอบกันพอดี
– เบื้องต้นก่อนเลย อะไรคือเงินดิจิทัล? เราทุกคนเข้าใจดีแล้วหรือยัง แล้วเงินดิจิทัลหน่วยคืออะไร เทียบหน่วยแล้วได้กี่บาท แล้วคิดถึงพื้นที่ห่างไกล คุณยาย คุณป้า ร้านขายของ เขาเข้าใจไหม แล้วตั้งราคายังไง
– แล้วทำไมต้องลอกนโยบายของรัฐบาลชุดก่อน เศรษฐกิจมันก็ไม่ได้ดีขึ้นมาเท่าไหร่เลย
– สรุปง่ายๆ คือ เราชนะ เวอร์ชันใหม่
ส่วนฝ่ายที่เห็นด้วยกับเงื่อนไขโครงการ
– รอคอย เชื่อมั่นในนโยบายนี้ เพราะประเทศนี้มันเสียหายมามากพอแล้ว มันไม่มีอะไรที่เสียมากไปกว่านี้แล้ว เชื่อว่าผลของการใช้นโยบายนี้เป็นประโยชน์แน่นอน
– ถ้ามันทำให้เปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นของ GDP และหนี้ครัวเรือนลดลงทำไปเถอะ สนับสนุน
– เงิน 10,000 มีค่าสำหรับคนจนเขาสามารถไปลงทุนค้าขายเล็กๆ น้อยๆ หรือจับจ่ายใช้สอยซื้อข้าวปลาอาหารแห้งของใช้
– เชื่อว่าการบริโภคสินค้าอุปโภคบริโภคจะเกิดการหมุนครั้งใหญ่และทำให้เศรษฐกิจถูกกระตุ้นอย่างแท้จริง ไม่ใช่ดูแค่ระดับการผลิตการส่งออก เพราะฐานใหญ่ขาดกำลังซื้อมหาศาล การเติมเงินให้ประชาชนส่วนฐานรากที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ในสภาวะที่ประชาชนในส่วนนี้ไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอยมากพอ จะทำให้เกิดการกระเพื่อมอย่างแรง ของปริมาณสินค้าที่ประชาชนจับจ่ายใช้สอย โครงการนี้จะประสบความสำเร็จได้ด้วยดี เพราะทำถูกเวลา ถูกสถานการณ์
– การเป็นรัฐบาลมีทั้งคนรักและคนเกลียด รัฐบาลไม่ต้องสนใจคนวิจารณ์หรอก แค่อธิบายเหตุผลให้ประชาชนเข้าใจก็พอ ใครจะเชื่อไม่เชื่อเราห้ามไม่ได้ ถ้าทำดีที่สุดแล้วก็ควรจะภูมิใจ แต่ไม่ต้องตอบโต้
– จะใช้ให้เป็นเกิดประโยชน์ที่สุด จะได้มาทำทุนค้าขายต่อยอด
ชาวโซเชียลบ่นอุบ เป็นหนี้ทุกคนแต่ได้ไม่ทุกคน!
อีกหนึ่งประเด็นที่มาแรง หลังรัฐบาลประกาศเงื่อนไข “รายได้เกิน 7 หมื่นบาท/เดือน เงินฝากรวมทุกบัญชีมากกว่า 5 แสนบาท จะไม่ได้รับสิทธิ” ชาวโซเชียลที่ไม่เข้าเงื่อนไขต่างออกมาแสดงความเห็นว่า ตนก็ควรได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ตามที่รัฐบาลเพื่อไทยที่เป็นแกนนำรัฐบาลเคยหาเสียงไว้ว่าจะได้เงินหมื่นทุกคน ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งมองว่าเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนดไว้นั้นดีแล้ว เพราะตรงกลุ่มเป้าหมาย
ตัวอย่างความเห็น
– เป็นหนี้ทุกคนแต่ได้ไม่ทุกคน
– คนมีเงินมันผิดตรงไหน เขาอุตส่าห์มานะพยายามกว่าจะมีเงินได้ พอเสียภาษีให้รัฐ รัฐกลับทิ้งลอยแพ ถ้าจะแจกคนไทยทุกคนต้องเท่าเทียมกัน ถ้าจะมีกลุ่มไหนไม่ได้ก็ไม่ต้องไปแจกทั้งหมด ทุกคนต้องเท่าเทียมกัน
– คนที่เขามีเงิน 500,000 เขาทำงานแลกเหงื่อมาทั้งชีวิต เขาก็เหนื่อยเหมือนกัน บางทีอาจเหนื่อยมากกว่าหลายๆ คนด้วย เขารู้จักกินรู้จักเก็บรู้จักใช้ เสียภาษีมาทั้งชีวิต แต่พอมีสวัสดิการกลับไม่ให้เขา เกินไปไหม
– เหมือนเป็นนโยบายลงโทษมนุษย์เงินเดือนชนชั้นกลาง และคนมีวินัยออมเงิน ตั้งใจทำงานเพื่อให้เงินเดือนสูงขึ้นและมีเงินออม ไม่ได้รับประโยชน์แต่เสียภาษีเต็ม
ในอีกมุมหนึ่ง มีชาวเน็ตที่เห็นด้วยกับเงื่อนไขที่แจกเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย อาทิ
– ตอนแรกก็คิดว่าทำไมไม่แจกทุกคน พออ่านรายละเอียดจริงๆ เข้าใจแล้วว่าทำไมไม่แจกทุกคน เพราะเอาเศษเงินไปแจกคนรวยเขาก็จะไม่ใช้มันก็จะสูญเปล่า ต่อให้เงินคืนคลังในที่สุด แต่มันไม่ได้ประโยชน์ใดๆ จากการกระตุ้นเศรษฐกิจเลย จึงเลือกแจกกลุ่มที่ต้องการใช้เงินจริงๆ
– พวกที่บอกเก็บเงินมาทั้งชีวิตมีเกิน 500,000 บาทอดได้ นี่ถือว่ารวยเลยนะ
– ในนามประชาชนคนหนึ่งขอสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลเต็มที่ถึงไม่เต็มปากก็ตาม มันต้องมีการปรับเปลี่ยนกันบ้างตามความเหมาะสม อยากถามพวกที่ออกมาดราม่าว่าจะลงทะเบียนรับกับเขาหรือไม่ ถ้ามีเงินในบัญชี 500,000 บาท แสดงว่าไม่จนแล้ว
ชวนคิด! อยู่ต่างจังหวัดใช้เงินยังไง?
หลังจากได้รับรู้เงื่อนไขการใช้ดิจิทัลวอลเล็ตจะต้องใช้จ่ายภายในอำเภอตามบัตรประชาชนเท่านั้น และต้องเริ่มใช้ภายใน 6 เดือนหลังได้รับสิทธิ คาดเริ่มโครงการประมาณเดือน พ.ค. 67 กลุ่มคนที่ทำงานในพื้นที่ต่างจังหวัดก็ออกมาแสดงความเห็นอย่างกังวลว่า อาจจะไม่สามารถกลับบ้านไปเริ่มใช้เงินดิจิทัลได้ เพราะต้องทำงาน แถมยังต้องเสียค่าเดินทางด้วย
บ้างก็ให้ความเห็นว่าในอำเภอที่อาศัยอยู่ไม่มีร้านค้าขนาดใหญ่ให้ซื้อสินค้าในระดับเป็นหมื่นบาท และยังมีส่วนหนึ่งแนะนำให้แจกเงินช่วงเทศกาลแทน เนื่องจากประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงนั้น หรือแนะรัฐบาลว่าควรให้ใช้แบบไม่มีขอบเขตจะดีกว่าหรือไม่
ตัวอย่างความเห็น
– แจกสงกรานต์-ปีใหม่ เทศกาลให้คนกลับภูมิลำเนาดีกว่า
– ในอำเภอไม่มีอะไรเลย ต้องเอาไปซื้อของที่ไม่จำเป็นหรือ จะจำกัดขนาดนี้จะช่วยคนรายได้น้อยยังไง จ่ายหนี้ก็ไม่ได้อีก
– คนที่ได้เงินนี้บางพวกก็ไม่ได้อยู่อาศัยในอำเภอตามทะเบียนบ้านนานแล้ว จะกลับไปใช้เงินชั่วคราวก็ไม่ไหว ติดงาน ติดค่าเดินทาง สรุปคือได้เงินแต่ไม่มีที่ให้ใช้เงินเหมือนกัน
– แล้วคนที่ทำงานอยู่จังหวัดหนึ่ง แต่ทะเบียนบ้านอยู่อีกจังหวัดหนึ่ง ระยะทางห่างกันมากๆ จะไม่ต้องขับรถไปเพื่อใช้เงิน 1 หมื่นเหรอคะ จ่ายค่าน้ำมันรถไปกลับก็หมดแล้วนะ ทำไมไม่ให้ใช้ที่ไหนก็ได้เหมือนคนละครึ่ง
– ใช้ได้เฉพาะในอำเภอแล้วใช้ได้ช่วง พ.ค.-พ.ย. ช่วงนอกเทศกาล คนต่างจังหวัดไม่ได้กลับบ้านเพราะกลับกันสงกรานต์ ไม่ก็สิ้นปีปีใหม่ แล้วจะเอาเวลาตอนไหนไปใช้กัน
– ที่จริงควรใช้ได้ทั่วไปไม่ควรกำหนดเขต แล้วคนที่ไปทำงานต่างจังหวัด แต่ภูมิลำเนาอยู่อีกจังหวัด ไม่ลำบากต้องไปใช้ในพื้นที่อีกหรอ จะกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งทีก็ให้ครอบคลุมหน่อย
ชาวเน็ตยังงงเงื่อนไขร้านค้า-สินค้าไม่ชัด มองเงื่อนไขอาจเอื้อนายทุน
สิ่งที่ประชาชนอยากรู้ที่สุดของเงื่อนไขโครงการดิจิทัลวอลเล็ต คือ ใช้ซื้ออะไรได้ และไม่ได้บ้าง ซึ่งหลังจากรัฐบาลประกาศออกมาแล้ว ก็มีประชาชนบางส่วนในโลกโซเชียลตั้งคำถามว่า ทำไมถึงใช้ซื้อสินค้านั้นไม่ได้ หรือซื้อสินค้านี้ได้หรือไม่ แต่ที่เห็นสับสนมากที่สุด คือเงื่อนไขของร้านค้า ที่มองว่ายังไม่ชัดเจน และจากที่ประกาศออกมาน่าจะเป็นการเอื้อแก่ร้านค้ารายใหญ่ หรือนายทุนมากกว่า
ตัวอย่างความเห็น
– ใช้ซื้อโทรศัพท์มือถือได้ไหม
– น้ำมัน ค่าไฟ แพง แต่ใช้ดิจิทัลวอลเล็ตจ่ายไม่ได้
– สำหรับร้านค้าต้องรอถึง 6 เดือนหรือเปล่า จึงจะถอนเงินได้ ถ้าต้องรอถึง 6 เดือน ร้านค้าแถวบ้าน ไม่เข้าร่วมแน่นอน เพราะไม่มีทุนสำรองขนาดนั้น
– ยังงงๆ พูดแต่คนที่ได้ แต่ไม่พูดถึงร้านค้าที่รับ แล้วร้านค้าที่ได้รับมาจะเอาไปใช้ต่อยังไง ใช้สั่งซื้อของนอกจังหวัดได้หรือเปล่า ใช้หนี้ตามกฎหมายได้หรือเปล่า ถ้าไม่ได้จะเกิดมรสุมทางการเงินครั้งใหญ่จนล่มจม
– ไปถามหาร้านในกลุ่มขายพวกเครื่องเสียงเครื่องเกมว่า มีร้านไหนเตรียมรับบ้าง เข้ามาตอบพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมายว่า ไม่รับ ไม่มีเงินสำรองมากเดือนละหลายล้านขนาดนั้น
– ชาวบ้านจนเหมือนเดิม พ่อค้านายทุนรวยมากขึ้น และที่แน่ๆ เงินที่ได้มาก็ต้องกู้เขามา ภาระหนี้ก็ตกเป็นของคนไทยอีกเช่นเคย แทนที่จะนำเงินมาพัฒนาด้านอื่นๆ ที่ทำรายได้เข้าประเทศ เช่น ระบบคมนาคม ขนส่ง ฯลฯ น่าจะเหมาะสมมากกว่า
– ถ้าร้านไหนอยากรับก็ต้องไปยื่นเรื่องเสียภาษีหรือ อย่างนี้ร้านค้าเล็กๆ ก็อดขายสิ
– ไม่มีขอบเขตการใช้ เจ้าสัวรวยอีกแล้ว
– ร้านค้ารับเงินไม่ต้องจด VAT ร้านค้าขึ้นเงินต้องจด VAT เอื้อนายทุน ห้างใหญ่ชัดๆ พ่อค้าร้านของชำรับเงินดิจิทัลได้ แต่เปลี่ยนเป็นเงินสดไม่ได้เลย ต้องไปใช้ซื้อของห้างใหญ่อีกที คนที่นับเงินสดคือนายทุนห้างใหญ่ แล้วอย่างนี้ไม่ใช่เอื้อนายทุนหรือ
อย่างไรก็ดี ความเห็นในโลกโซเชียลจากช่องทางต่างๆ ที่นำเสนอข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สำนักข่าว “อินโฟเควสท์” หยิบยกมานำเสนอเท่านั้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ย. 66)
Tags: Digital Wallet, DXT360, SCOOP, Social Listening, ดิจิทัลวอลเลต, เศรษฐา ทวีสิน