CHAYO กำไร 9 เดือนทะลุทั้งปี 65 หลัง Q3/66 โต 100% จ่อยื่นไฟลิ่ง “ชโย แคปปิตอล” ขาย IPO ปี 67

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/66 (สิ้นสุด 30 ก.ย.66) บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 87.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 103.76% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3/65 ขณะที่กำไรสุทธิงวด 9 เดือนแรกของปี 66 อยู่ที่ 308.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70.96% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ กำไรสำหรับงวด 9 เดือนสูงกว่ากำไรทั้งปีของปี 65 ที่ 274.46 ล้านบาท สาเหตุของการเพิ่มขึ้นของกำไรส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นและกำไรจากการขายจำหน่ายทรัพย์สินรอการขายที่เพิ่มขึ้น

CHAYO มีรายได้รวมจากการดำเนินงานในไตรมาส 3/66 จำนวนทั้งสิ้น 376.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48.3% จากไตรมาส 3/65 เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อแก่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพและรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้กู้ยืมจำนวน 110.69 ล้านบาท และ 7.67 ล้านบาทตามลำดับ นอกจากนี้ในไตรมาส 3/66 มีรายได้จากธุรกิจบริการจัดหาคนอีก 4.66 ล้านบาท

สำหรับงวด 9 เดือนแรก บริษัทมีรายได้รวม 1,079 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.03 % โดยส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ จำนวน 338.28 ล้านบาท และการเพิ่มขึ้นของรายดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมจำนวน 25.57 ล้านบาท

บริษัทมียอดจัดเก็บจากหนี้ที่ไม่มีหลักประกันและยอดรายได้จากการขายหลักประกันของหนี้ด้อยคุณภาพจำนวน 302.48 ล้านบาท ซึ่งมากกว่างวดเดียวกันของปีก่อน อยู่จำนวน 68.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% โดยที่ยอดจัดเก็บหนี้ชนิดไม่มีหลักประกันยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลมาจากการซื้อพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพชนิดไม่มีหลักประกันมาบริหารเพิ่มเติมมากอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้ปีนี้บริษัทมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

นายกิตติ ตั้งศรีวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CHAYO กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทฯ ครั้งที่ 7/66 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 10 พ.ย.66 ได้มีมติอนุมัติแผนการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกใหม่ของ บริษัท ชโย แคปปิตอล จำกัด (CCAP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ CHAYO ถือหุ้น 71.25% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยการเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และการนำหุ้นของ CCAP เข้าจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) (แผนการ Spin-Off)

ภายใต้แผนการ Spin-Off ในครั้งนี้ CCAP คาดว่าจะดำเนินการยื่นคำขออนุญาตเพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกใหม่ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายในปี 67 คาดว่าจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไป และผู้ลงทุนประเภทอื่นๆ รวมทั้งหมดคิดเป็นจำนวนไม่เกิน 25% ของทุนชำระแล้วทั้งหมดของ CCAP ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO)

ทั้งนี้ การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไป และผู้ลงทุนประเภทอื่นๆ จะส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทใน CCAP ลดลงจากเดิม 71.25% เหลือ 53.44% ของทุนชำระแล้วภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ซึ่ง CCAP จะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัทเช่นเดิม

“ตามที่บริษัทมีแนวทาง และแผนในการดำเนินธุรกิจโดยการแบ่งแยกธุรกิจการปล่อยสินเชื่อทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันออกจากบริษัทอย่างชัดเจน โดยบริษัท และบริษัทย่อยของบริษัทที่ไม่ใช่บริษัทในกลุ่ม CCAP จะประกอบธุรกิจลงทุนและบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ธุรกิจให้บริการเจรจาติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้ ธุรกิจร่วมลงทุนและหรือธุรกิจอื่นที่ไม่เป็นการแข่งขันกับ CCAP ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความสามารถและศักยภาพด้านการเงินของกลุ่มบริษัท จึงเห็นควรดำเนินการให้ CCAP เป็นบริษัทหลัก (Flagship Company) ของกลุ่มบริษัทในการดำเนินธุรกิจการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียง 1. ธุรกิจการปล่อยสินเชื่อ ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน และ 2. ธุรกิจให้บริการเบิกเงินเดือนล่วงหน้า” นายกิตติกล่าว

CCAP ดำเนินธุรกิจปล่อยสินเชื่อ ทั้งแบบที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน (Nano Finance) อัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 36% ต่อปี และธุรกิจปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สถาบันการเงิน (Personal Loan) อัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 28% ต่อปีภายใต้การควบคุมของธนาคารแห่งประเทศไทย

นายกิตติ กล่าวว่า การนำ CCAP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเป็นการเพิ่มช่องทางการระดมทุนให้กับ CCAP ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในรูปแบบต่างๆ ด้วยตนเอง ทำให้ CCAP มีความยืดหยุ่นและความคล่องตัวในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการขยายธุรกิจของ CCAP เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตทั้งในลักษณะที่เป็นไปตามปกติของธุรกิจ (Organic Growth) และการเติบโตแบบก้าวกระโดด (Inorganic Growth)

การเข้าระดมทุนครั้งนี้ CCAP จะนำเงินไปขยายธุรกิจในอนาคต และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน รวมถึงใช้ในธุรกิจของบริษัทและชำระคืนเงินกู้ยืม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคต และยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และชื่อเสียงของ CCAP ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมไปถึงเพิ่มโอกาสในการแสวงหาบุคลากรและ/หรือพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner) ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ ซึ่งจะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ CCAP ในอนาคต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ย. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top