นายเทเทน มาสดูกี รัฐมนตรีฝ่ายธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ของอินโดนีเซียเปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (13 พ.ย.) ว่า ติ๊กต๊อก (TikTok) ได้เจรจากับกลุ่มบริษัทอีคอมเมิร์ซของอินโดนีเซียเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการผนึกกำลังเป็นพันธมิตรกัน เพียงหนึ่งเดือนหลังอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกคำสั่งห้ามทำการค้าขายสินค้าบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
ทั้งนี้ นายมาสดูกีระบุว่า ติ๊กต๊อกได้หารือกับบริษัทอีคอมเมิร์ซของอินโดนีเซียทั้งสิ้น 5 ราย เช่น โทโกพีเดีย (Tokopedia) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือโกทู (GoTo) รวมถึงบูกาลาปักดอตคอม (Bukalapak.com) และบลิบลิ (Blibli)
“บริษัทอีคอมเมิร์ซบางแห่งในอินโดนีเซียได้เจรจากับติ๊กต๊อก” นายมาสดูกีกล่าว โดยอ้างอิงตามข้อมูลจากผู้บริหารของบริษัทเหล่านี้
กระทรวงการค้าของอินโดนีเซียได้สั่งห้ามค้าขายสินค้าบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในเดือนต.ค. เพื่อปกป้องร้านค้ารายย่อยและปกป้องข้อมูลผู้ใช้งาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อติ๊กต๊อกอย่างรุนแรง เนื่องจากถูกบังคับให้ปิดบริการติ๊กต๊อก ชอป (TikTok Shop) ซึ่งเป็นบริการอีคอมเมิร์ซของบริษัท โดยติ๊กต๊อกมีผู้ใช้งานถึง 125 ล้านรายในอินโดนีเซีย
อย่างไรก็ตาม โฆษกติ๊กต๊อกประจำอินโดนีเซียยังไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อรายงานข่าวดังกล่าว ขณะที่โทโกพีเดียปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น ส่วนบูกาลาปักระบุว่า บริษัทไม่ทราบเรื่องการเจรจาดังกล่าว ด้านบลิบลิก็ยังไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็น
สำนักข่าวเซาท์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากแหล่งข่าวว่า ติ๊กต๊อกและยูทูบกำลังพิจารณาที่จะดำเนินการตามบริษัทเมตาในการขอใบอนุญาตทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอินโดนีเซีย หลังจากอินโดนีเซียสั่งห้ามค้าขายสินค้าบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ย. 66)
Tags: SME, TikTok, อินโดนีเซีย, อีคอมเมิร์ซ, แบนสินค้า, โซเชียลมีเดีย