อาจารย์วิศวฯ จุฬาฯ คิดค้น “เครื่องวิเคราะห์การทรงตัว” โดยนวัตกรรมรางวัลเหรียญทองจาก ITEX2023 ที่สหพันธรัฐมาเลเซีย และรางวัลพิเศษระดับเหรียญทอง จาก World Invention Intellectual Property Associations (WIIPA) ตรวจสอบการทรงตัว ยืนเซ เพื่อปรับพฤติกรรม ป้องกันอันตรายจากการล้ม
อาจารย์ชัชนี ภควัตสุนทร อาจารย์พิเศษสำนักบริหารหลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า “นวัตกรรมนี้เป็นเครื่องมือเบื้องต้น ที่ช่วยเหลือการทำงานของแพทย์ในการคัดกรองสภาวะเสี่ยงล้มในผู้สูงอายุ ใคร ๆ ก็สามารถใช้ได้เพื่อตรวจรู้การทรงตัวและสภาวะของตัวเอง นับเป็นการช่วยลดภาระแพทย์ได้มาก และคนในสังคมจะมีสุขภาวะที่ดีขึ้น”
ก่อนหน้านี้ อาจารย์สังเกตตัวเองว่าทรงตัวไม่ค่อยอยู่ และเซอยู่บ่อยครั้งเมื่อขึ้นรถโดยสารสาธารณะและต้องยืนอยู่เป็นประจำ จึงตั้งคำถามว่า อาการเซและทรงตัวไม่ค่อยได้แบบนี้เรียกว่าปกติหรือเปล่า จะมีวิธีปรับแก้หรือทำให้ทรงตัวดีขึ้นได้อย่างไร และค้นหาคำตอบจนเกิดเป็นนวัตกรรม “เครื่องวิเคราะห์การทรงตัว” ที่สามารถประเมินการทรงตัวของแต่ละบุคคลได้จากการขึ้นไปยืนบนแท่นทดสอบ โดยนวัตกรรมชิ้นนี้ได้รับรางวัลเหรียญทอง จาก ITEX2023 และรางวัลพิเศษ (Special award) ระดับเหรียญทอง จาก World Invention Intellectual Property Associations (WIIPA) ในงาน 34th International Innovation & Technology Exhibition 2023 (ITEX 2023) ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ด้วยการสนับสนุนนจาก ชมรมจุฬาฯ สปินออฟ (Club Chula Spin-off)
“นวัตกรรมชิ้นนี้เกิดจากการสังเกตตัวเองว่าเวลาที่ยืนบนรถโดยสารแล้วตัวเองทรงตัวไม่ค่อยอยู่ เซบ่อย ด้วยความสนใจ จึงไปค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อที่จะหาวิธีที่ทำให้ทรงตัวบนรถโดยสารได้ แล้วก็พบว่า เรายังไม่มีอุปกรณ์ที่จะวิเคราะห์การทรงตัวแบบเฉพาะบุคคล จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คิดค้นนวัตกรรมชิ้นนี้ เพื่อที่จะได้รู้ว่าเราจะต้องฝึกฝนหรือปรับพฤติกรรมอย่างไร”
อาจารย์ชัชนีตั้งใจคิดค้นนวัตกรรมนี้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น ใช้ในการคัดกรองและประเมินสุขภาพเบื้องต้น ใช้วิเคราะห์การทรงตัวเพื่อออกแบบการทำกายภาพบำบัดและการออกกำลังกาย นอกจากนี้ ยังสามารถใช้อุปรณ์นี้กับการฝึกฝนพัฒนาบุคลิกภาพเพื่อการประกอบอาชีพได้อีกด้วย
แม้การใช้งานเครื่องวิเคราะห์การทรงตัวจะทำได้หลากหลาย แต่เป้าหมายหลักในการคิดค้นนวัตกรรมนี้คือการนำไปใช้ทางการแพทย์ ในสถานพยาบาลต่าง ๆ บ้านพักคนชรา ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก รวมถึงการออกตรวจคนไข้นอกสถานที่ หรือในพื้นที่ห่างไกล
“นี่คือเหตุผลที่ทำไมเครื่องมือนี้จึงมีขนาดเล็ก พกพาได้สะดวก และสามารถอ่านผลได้โดยไม่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง” อาจารย์ชัชนี กล่าว
เครื่องวิเคราะห์การทรงตัวเป็นอุปกรณ์ดิจิทัลเทคโนโลยีแบบ Deep Tech มีขนาดเล็กกะทัดรัด น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายได้สะดวก ประกอบด้วย 2 อุปกรณ์หลักคือ ตัวแท่นยืน และสาย USB สำหรับต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือเพื่อแสดงผลผ่านหน้าจอ
“ตัวเครื่องนอกจากจะสามารถวัดค่าพื้นฐาน เช่น น้ำหนัก ดัชนีมวลกาย (BMI) ได้แล้ว ยังสามารถวัดค่าพื้นที่ในการทรงตัวและค่าระยะในการทรงตัวได้ด้วย เพื่อที่ผู้ใช้จะได้รู้ว่าเวลาที่เรายืนบนรถโดยสาร หรือยืนรอ หรือเดิน เราจะเซในระยะเท่าไร เซแบบนี้ถือว่าอยู่ในระดับปกติไหมเมื่อเทียบกับคนที่อยู่ในช่วงอายุและเพศเดียวกัน และนำไปวิเคราะห์ว่าเราจำเป็นต้องเปลี่ยนพฤติกรรมหรือไม่” อาจารย์ชัชนีอธิบาย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ย. 66)
Tags: การแพทย์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ชัชนี ภควัตสุนทร, นวัตกรรม, วิศวกรรม