ผู้เชี่ยวชาญหลายรายมองว่า ข่าวร้ายเกี่ยวกับปัญหาหนี้สินของรัฐบาลสหรัฐมักจะเป็นปัจจัยฉุดตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่คาดว่าจะไม่ใช่ในเดือนพ.ย.นี้ โดยในการซื้อขายเมื่อวันจันทร์ (13 พ.ย.) ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์ก และตลาดหุ้นอื่น ๆ ทั่วโลกยังคงเคลื่อนไหวในแดนบวก เนื่องจากนักลงทุนมองข้ามข่าวมูดี้ส์ประกาศลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา จากมี “เสถียรภาพ” เป็น “เชิงลบ”
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายใหญ่ 3 แห่งต่างก็ระบุว่า หนี้สินและยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งความเสี่ยงด้านการเมืองในสหรัฐอาจจะส่งผลกระทบต่อสถานะการเป็นผู้ออกพันธบัตรรายใหญ่ของโลก
แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ปัญหาด้านการคลังและความวุ่นวายทางการเมืองในสหรัฐดูเหมือนจะเป็นเรื่องเก่า และการออกมาเคลื่อนไหวของบรรดาบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือในครั้งนี้ ก็อาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบกับตลาดเหมือนกับในช่วงที่ผ่านมา
“คำถามคือหากสหรัฐถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงสู่ระดับ AA จากระดับ AAA จะหมายความว่าอย่างไร? คำตอบคือไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะนักลงทุนก็ยังคงซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ขณะที่มูดี้ส์เปิดเผยสิ่งที่ตลาดรู้อยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่มีอะไรเลยจริง ๆ” นายไมเคิล เรย์โนลด์ส รองประธานฝ่ายกลยุทธ์ด้านการลงทุนของบริษัทเกลนมีด อินเวสต์เมนต์ แมเนจเมนต์กล่าว
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ในความเป็นจริงแล้วไม่มีความจำเป็นที่ใครจะต้องบอกกับนักลงทุนเกี่ยวกับหนี้สินมูลค่า 33.7 ล้านล้านดอลลาร์และยอดขาดดุลงบประมาณมูลค่า 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2566 เนื่องจากทั้งสองเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ตลาดวอลล์สตรีทรับรู้อยู่แล้ว
มูดี้ส์ประกาศปรับแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐสู่ “เชิงลบ” จาก “มีเสถียรภาพ” เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (10 พ.ย.) โดยคาดการณ์ว่า การขาดดุลการคลังของสหรัฐจะยังคงอยู่ในระดับสูงมาก และจะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม มูดี้ส์ยังคงตรึงอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาว รวมถึงตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิ์และไม่มีประกันของรัฐบาลสหรัฐไว้ที่ระดับ Aaa
ส่วนเมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา ฟิทช์ เรทติ้งส์ ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐลงสู่ระดับ AA+ จากระดับ AAA โดยระบุว่า ภาวะชะงักงันทางการเมืองส่งผลให้หนี้สินของสหรัฐพุ่งชนเพดานหลายครั้ง และส่วนใหญ่จะรอดพ้นการผิดนัดชำระหนี้ในนาทีสุดท้าย ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ได้บั่นทอนความเชื่อมั่นในด้านการบริหารการคลังของรัฐบาลสหรัฐ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ย. 66)
Tags: ตราสารหนี้, สหรัฐ, เศรษฐกิจสหรัฐ