ส่องตลาดแรงงาน 9 เดือนโตพุ่ง 10.8% ธุรกิจท่องเที่ยว-โรงแรมมาแรง

จ๊อบไทย (JobThai) เปิดภาพรวมความต้องการแรงงานทั่วประเทศ จากข้อมูลช่วงเดือนมกราคม – กันยายน 66 พบว่า มีการเปิดรับรวม 1,746,346 อัตรา (การเปิดรับรายเดือนรวมกัน) เพิ่มขึ้น 10.80% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยธุรกิจที่รับพนักงานเติบโตมากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจการท่องเที่ยว เติบโตถึง 76% ธุรกิจโรงแรม 39% เนื่องจากเป็นการฟื้นตัวจากผลกระทบวิกฤตโควิด-19 ที่ในช่วงก่อนหน้าธุรกิจท่องเที่ยว และโรงแรมมีการปลดพนักงานออกเป็นจำนวนมาก และกลับมาเปิดรับใหม่อีกครั้งหลังจากที่การท่องเที่ยวกลับมาเป็นปกติ ตามด้วยธุรกิจเชื้อเพลิง/พลังงาน เติบโต 39% โดยคนหางานมีผู้ใช้งาน 17.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.72 % (นับจำนวนแบบไม่ซ้ำกันตามอุปกรณ์การใช้งาน) มีการสมัครงาน 14.7 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 2.44% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเดือนมิถุนายนมีการสมัครงานกว่า 2 ล้านครั้ง

น.ส.แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการจ๊อบไทย www.jobthai.com เปิดเผยว่า จากการรวบรวมและวิเคราะห์ฐานข้อมูลความต้องการแรงงานและพฤติกรรมความต้องการของผู้สมัครงานทั่วประเทศของผู้ใช้งานจ๊อบไทยพบสถิติที่น่าสนใจ ดังนี้

คนทำงานอายุ 25 – 34 ปี เป็นกลุ่มผู้ใช้งานหลัก โดยผู้ใช้งานที่มีช่วงอายุ 25 – 34 ปี คิดเป็น 30.27% ลำดับถัดมาเป็นช่วงอายุ 45 ปีขึ้นไป คิดเป็น 25.09% ช่วงอายุ 35 – 44 ปี คิดเป็น 23.45% และอายุ 18 – 24 ปี คิดเป็น 21.19%

ระดับการศึกษาและสาขาของผู้ใช้งาน ผู้ใช้งานที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีสัดส่วนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็น 69.69% ระดับ ปวส. คิดเป็น 14.22% ระดับปริญญาโท คิดเป็น 4% และในระดับการศึกษาอื่น ๆ รวมกันอยู่ที่ 12.09%

เมื่อแยกตามสาขาวิชาที่จบของผู้หางาน พบว่า อันดับหนึ่ง ได้แก่

– บัญชี/การเงิน/การธนาคาร 10.88%

– อันดับ 2 การบริหาร/การจัดการ/บุคคล 9.66%

– อันดับ 3 เลขา/ประชาสัมพันธ์/ธุรการ/คอมพิวเตอร์ธุรกิจ 7.91%

– อันดับ 4 ช่างอิเล็กทรอนิกส์/ช่างไฟฟ้า/ช่างคอมพิวเตอร์ 6.28%

– อันดับ 5 อักษรศาสตร์/ศิลปศาสตร์/มนุษยศาสตร์ 5.53%

5 กลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด

1. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เปิดรับรวม 167,261 อัตรา เนื่องมาจากการด้านท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในประเทศกลับมาฟื้นตัว ผู้บริโภคมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นจะเห็นได้จากการใช้จ่ายในหมวดภัตตาคารและโรงแรมที่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 (ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มยังคงมีการจ้างงานสูงเพื่อรองรับกับความต้องการของผู้บริโภค

2. ธุรกิจค้าปลีก เปิดรับรวม 137,421 อัตรา การขายปลีกยังคงมีขยายตัวทั้งนี้มีปัจจัยสนับสนุนมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนที่อยู่ในเกณฑ์ดี (ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) สอดคล้องกับศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้มีการประเมินถึงภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยปี 2566 ว่ามีการขยายตัวเติบโตต่อเนื่องโดยได้รับปัจจัยบวกจากการกิจกรรมเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและการบริโภคที่กลับมาฟื้นตัว รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐทำให้ยอดค้าปลีกสูงขึ้นในครึ่งแรกของปี เช่น ช้อปดีมีคืน และเราเที่ยวด้วยกัน

3. ธุรกิจยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ เปิดรับรวม 119,609 อัตรา อุตสาหกรรมยานยนต์มีการเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดรถยนต์นั่งและการลงทุนของผู้ผลิตรถยนต์รายใหม่ รวมทั้งนโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าจากภาครัฐที่มีมาตรการต่าง ๆ อาทิมาตรการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ที่ภาครัฐให้เงินอุดหนุนคันละ 70,000-150,000 บาท ส่งผลให้เกิดการพึ่งพาวัตถุดิบในประเทศและมีการจ้างงานในธุรกิจนี้

4. ธุรกิจก่อสร้าง และวัสดุก่อสร้าง เปิดรับรวม 108,491 อัตรา มีปัจจัยสนับสนุนจากการก่อสร้างของภาครัฐในโครงการเมกะโปรเจกต์ต่อเนื่องจากในอดีต และมีความคืบหน้าของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนก่อสร้างโครงการใหม่ ๆ และการขยายตัวต่อเนื่องของการก่อสร้างภาคเอกชนในการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ และการก่อสร้างโครงการ อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ (ที่มา : ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC))

5. ธุรกิจบริการ เปิดรับรวม 106,143 อัตรา เนื่องจากการขยายตัวที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัว ตลอดจนการมาทำกิจกรรมนอกบ้านของผู้บริโภคมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจบริการซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ได้รับอานิสงค์จากภาคการท่องเที่ยวนั้นมีการขยายตัวเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทย

5 สายงานที่องค์กรเปิดรับมากที่สุด

อันดับ 1 งานขาย คิดเป็น 21.43%

อันดับ 2 งานช่างเทคนิค คิดเป็น 9.37%

อันดับ 3 งานผลิต/ควบคุมคุณภาพ คิดเป็น 7.09%

อันดับ 4 งานธุรการ/งานจัดซื้อ คิดเป็น 6.26%

อันดับ 5 งานวิศวกรรม 5.87% ของอัตราการเปิดรับในแต่ละเดือนรวมกัน

5 สายงานที่มีผู้สมัครมากที่สุด

อันดับ 1 งานผลิต/งานควบคุมคุณภาพ คิดเป็น 16.03%

อันดับ 2 งานธุรการ/งานจัดซื้อ คิดเป็น 14.12%

อันดับ 3 งานวิศวกรรม คิดเป็น 10.98%

อันดับ 4 งานช่างเทคนิค คิดเป็น 9.20%

อันดับ 5 งานขาย คิดเป็น 8.54% ของผู้สมัครทั้งหมด

งานที่มีอัตราการแข่งขันสูงที่สุด

อันดับ 1 งานทรัพยากรบุคคล 5.8 คน ต่อ 1 อัตรา

อันดับ 2 งานวิทยาศาสตร์ 5.5 คน ต่อ 1 อัตรา

อันดับ 3 งานนำเข้า/ส่งออก 5.5 คน ต่อ 1 อัตรา

อันดับ 4 งานจัดซื้อ/งานธุรการ/ประสานงาน 4 คน ต่อ 1 อัตรา

อันดับ 5 งานสิ่งแวดล้อม/ความปลอดภัย 3.8 คน ต่อ 1 อัตรา

สำหรับ พฤติกรรมในการค้นหาประวัติผู้หางานของฝั่งองค์กร องค์กรมีการค้นหาประวัติผู้หางานโดยค้นหาจากช่วงประสบการณ์ทำงานเพิ่มขึ้น 31% มีการค้นหาผู้ที่มีอายุงาน 5 ปีขึ้นไป คิดเป็นกว่า 19.19% ของทั้งหมด และยังพบว่าองค์กรมีการค้นหาผู้สมัครงานจากทักษะและการใช้โปรแกรม โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจแบ่งเป็นกลุ่มหลักได้ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ทักษะด้านการใช้ภาษา โดยมีการค้นหาทักษะภาษาจีนมากที่สุด ตามมาด้วยภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่น ตามลำดับ ซึ่งองค์กรยังมีการค้นหาระดับความสามารถในการใช้ภาษาต่าง ๆ อย่าง TOEIC (การสอบวัดระดับความรู้ภาษาอังกฤษ) และ HSK (การสอบวัดระดับความสามารถภาษาจีน)

กลุ่มที่ 2 ทักษะที่เกี่ยวข้องกับสายงานไอที โดยมีการค้นหาทักษะด้านภาษาคอมพิวเตอร์และการใช้เครื่องมือในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ดังนี้ C#, JAVA, .NET, ANGULAR, PHP, SQL, GOLANG, และ PYTHON ตามลำดับ

กลุ่มที่ 3 โปรแกรมและเครื่องมือที่ใช้ในการทำงาน ได้แก่ SAP (System Application Products) และ ERP (Enterprise Resource Planning) ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับการวางแผนการจัดการขององค์กร, EXPRESS โปรแกรมทางด้านบัญชี และ Tiktok แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารสินค้าและบริการยอดนิยมขององค์กรในปัจจุบัน

นอกจากนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจจากเฟซบุ๊กกลุ่ม “JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน” ซึ่งมีสมาชิกภายในกลุ่มกว่า 1.1 ล้านคน พบว่าคนทำงานได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นที่น่าสนใจต่าง ๆ ดังนี้ คนทำงานอายุเยอะหางานยาก, งานในต่างจังหวัดเงินเดือนน้อย, เด็กจบใหม่มีปัญหาเกี่ยวกับการสื่อสารในการทำงาน, ปัญหาด้านเวลาในการทำงาน เช่น การต้องทำงานนอกเหนือเวลางาน หรือตอบข้อความหลังเวลางาน ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่องค์กรควรให้ความสำคัญ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ย. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top