SPRC คาด Q4/66 ขาดทุนสต็อกน้ำมัน จากราคาน้ำมันดิบปรับลง-ดีมานด์ฤดูหนาวอยู่ในระดับปกติ

นายศักดิ์ชัย ธรรมสุรักษ์ ผู้จัดการฝ่ายจัดหาและวางแผนธุรกิจ บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/66 น่าจะมีผลขาดทุนจากการสต็อกน้ำมัน (Stock loss) จากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงสู่ระดับราว 80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงต้นปี

โดยประเมินราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 4/66 ยังคงมีความผันผวน โดยช่วงต้นไตรมาสราคาน้ำมันยังเป็นขาขึ้นอยู่ ขณะที่พอมาถึงปลายเดือนต.ค. ถึงต้านพ.ย.66 สภาวะของซัพพลาย และดีมานด์มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยเริ่มเห็นปริมาณน้ำมันสูงกว่าความต้องการใช้น้ำมันในตลาด (Surplus) ขณะที่ก็มีซัพพลายที่มาจากกลุ่มโอเปก และนอกโอเปกออกมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับยังมีกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม หลังซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย ที่ลดกำลังการผลิต 1.3 ล้านบาร์เรล/วัน จนถึงสิ้นปีนี้ ว่าจะมีการตัดสินใจลดกำลังการผลิตต่อเนื่องหรือไม่ หากไม่ ก็จะเป็นการเพิ่มซัพพลายเข้ามาในตลาด กดดัน Fundamental ตลาดน้ำมันลงต่อ รวมถึงปัจจัยสงครามในตะวันออกกลางก็มีผลต่อราคาน้ำมันดิบเช่นกัน แม้ว่าบริเวรที่เกิดสงครามจะไม่ได้เป็นแหล่งผลิตน้ำมันขนาดใหญ่ แต่มีโอกาสส่งผลกระทบต่อการขนส่งน้ำมันในระแวกนั้น

ส่วนความต้องการน้ำมัน ปกติจะมีความต้องการสูงในช่วงฤดูหนาว แต่ด้วยคาดการณ์ในปีนี้ฤดูหนาวอาจไม่ได้หนาวไปกว่าปกติ ทำให้ความต้องการน้ำมันไม่ได้มีมากไปกว่าปกติ ประกอบกับผลประกอบการของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศหลัก อย่าง จีน กับสหรัฐ ซึ่งเมื่อไหร่ ก็ตามที่ข้อมูลเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ถูกรายงานออกมาในทางลบ ก็มีผลต่อจิตวิทยาการลงทุน

อย่างไรก็ตามมองน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยาน (Jet) จะมีความต้องการน้ำมันในฤดูหนาว แม้ Jet ความต้องการยังไม่กลับมาที่เดิมในช่วง Pre-Covid-19 แต่ก็อยู่ในระดับ 70-80% แล้ว ทำให้เชื่อว่าราคาน่าจะอยู่ในระดับสูงกว่า 20 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยปัจจุบันอยู่ที่ 20-25 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และหากดีมาก หรือมีความต้องการเร่งด่วนก็อาจขึ้นไปได้ที่ 25-30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

ราคาแก๊สโซลีนในไตรมาส 4/66 ถือเป็นช่วงโลซีซั่น ซึ่งความต้องการส่วนใหญ่จะมาจากฝั่งตะวันตก ที่ปัจจุบันเป็นหน้าหนาว จึงทำให้ความต้องการน้อยลง ทำให้ส่วนต่างระหว่างราคาแก๊สโซลีนปรับตัวลงมา จากปัจจุบันอยู่ในช่วง 5-10 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยได้แรงหนุนจากจีนส่งออกน้อยลง ผลักดันส่วนต่างระหว่างราคาแก๊สโซลีน ปรับตัวขึ้นใกล้เคียง 10 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล คาดว่าจะสามารถทรงตัวอยู่ในระดับนี้ไปได้

ขณะที่การใช้อัตราการกลั่นในไตรมาส 4/66 บริษัทฯ มีแผนใช้กำลังการผลิตอย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มมาร์จิ้นในฤดูหนาว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ย. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top