ลาวมีเค้าลางเผชิญวิกฤตหนี้สินตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความวิตกกังวลเกี่ยวกับความสามารถของลาวในการชำระหนี้ให้กับจีนซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยจีนกลายมาเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของลาวในช่วงปลายปี 2556 และนับจากนั้นมาอิทธิพลของจีนก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่า ลาวมีหนี้สาธารณะคิดเป็นสัดส่วน 122% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปีนี้ โดยหนี้สินส่วนใหญ่เกิดจากการกู้ยืมเงินจีนเพื่อนำไปลงทุนตามข้อตกลงด้านโครงสร้างพื้นฐานภายใต้แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ของจีน
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ลาวได้กู้ยืมเงินเป็นจำนวนมากจากรัฐบาลของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งประเทศจีนเพื่อนำไปสร้างทางรถไฟ ถนนทางหลวง และเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งได้ผลาญทุนสำรองระหว่างประเทศไปด้วยในระหว่างกระบวนการก่อสร้าง
กรณีดังกล่าวผสมผสานกับปัญหาอาหารและเชื้อเพลิงที่มีราคาพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก บวกกับวิกฤตสกุลเงินกีบของลาวอ่อนค่าสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำให้เงินเฟ้อพุ่งทะยานขึ้น
หลายฝ่ายวิตกกังวลว่า ลาวอาจเสี่ยงเผชิญภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย หากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจลุกลามเกินความสามารถที่จะรับมือ ดังนั้น รัฐบาลลาวจึงดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างเสถียรภาพ เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย การออกพันธบัตรรัฐบาล และการทำงานกับธนาคารพัฒนาเอเชียเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติด้านการบริหารจัดการหนี้สิน อีกทั้งยังลดการใช้จ่ายในด้านบริการที่สำคัญ เช่น การศึกษาและการดูแลสุขภาพ
แต่นักวิเคราะห์เตือนว่า หากปราศจากการทำข้อตกลงลดหนี้สินอย่างจริงจังกับจีนแล้ว สถานการณ์ทางการเงินของลาวไม่น่าจะดีขึ้น
“ลาวควรเจรจาเรื่องการจัดการหนี้สินล่วงหน้ากับจีน เช่น การลดหนี้ในแง่ของมูลค่าปัจจุบันสุทธิเพื่อให้ลาวสามารถชำระหนี้ตามกำหนดได้อย่างยั่งยืน” นายโทชิโร นิชิซาวะ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยโตเกียวซึ่งเชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐกิจระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ย. 66)
Tags: ลาว, หนี้สิน, เศรษฐกิจลาว