นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยในปี 2562 พบว่า ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น 373 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยมาจากภาคพลังงานและการคมนาคมขนส่งมากที่สุด 261 ล้านตันฯ (70%) รองลงมาคือ ภาคเกษตร 57 ล้านตันฯ (15%) ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ 38 ล้านตันฯ (10%) และภาคของเสีย 17 ล้านตันฯ (5%)
หากพิจารณาในส่วนของแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคเกษตร 57 ล้านตันฯ จะพบว่า มาจากการปลูกข้าวมากที่สุด 29 ล้านตันฯ (51%) รองลงมาคือ การใส่ปุ๋ยและปูน 13 ล้านตันฯ (22%) การหมักในระบบย่อยอาหารสัตว์ 11 ล้านตันฯ (19%) การจัดการมูลสัตว์ 3 ล้านตัน (6%) และการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร 1 ล้านตัน (2%)
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตระหนักและร่วมขับเคลื่อนภารกิจตามเป้าหมาย NDC และภารกิจการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกของภาคเกษตร จึงเป็นที่มาของการบรรจุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก 1 ล้านตันฯ ไว้ในแผนปฏิบัติการด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2566-2570 โดยมีมาตรการส่งเสริมให้เกษตรกรทำนาแบบเปียกสลับแห้งของกรมการข้าว และกรมชลประทาน การนำของเสียจากมูลสุกรของภาคปศุสัตว์ไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าของกรมปศุสัตว์ การลดใช้ปุ๋ยเคมีด้วยแอปพลิเคชั่นรู้จริงพืชดินปุ๋ย (TSFM) และโครงการรวมกลุ่มแปลงใหญ่ผสมปุ๋ยใช้เองของกรมพัฒนาที่ดิน รวมทั้งโครงการพัฒนากระบวนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตพืชเศรษฐกิจเพื่อรับรองคาร์บอนเครดิตของกรมวิชาการเกษตร โดยคาดการณ์ว่าการดำเนินมาตรการข้างต้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ภาคเกษตรสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 2.74 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2573
ด้าน น.ส.กาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า แผนปฏิบัติการด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2566-2570 ได้กำหนดวิสัยทัศน์ “ภาคเกษตรไทยมีสมรรถนะและภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนพื้นฐานของสารสนเทศและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย” ประกอบด้วยพันธกิจ 5 ด้าน ได้แก่ 1) ยกระดับขีดความสามารถในการปรับตัวของเกษตรกรและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตร 2) มีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว 3) พัฒนาฐานข้อมูล องค์ความรู้ และสนับสนุนการสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความสำคัญในการปรับตัวและการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 4) พัฒนาศักยภาพกำลังคนในภาคเกษตรและส่งเสริมความร่วมมือของภาคีเครือข่ายเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกภาคส่วนและทุกระดับ และ 5) ผลักดันและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ย. 66)
Tags: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ก๊าซเรือนกระจก, กาญจนา ขวัญเมือง, ฉันทานนท์ วรรณเขจร, สศก., เกษตร, โลกร้อน