วงการชี้ Turning Point ตลาดหุ้นไทย “เฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ย-Fund Flow เริ่มไหลกลับ”

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) เปิดเผยว่า จุดเปลี่ยน (Turning Point) ของตลาดหุ้นไทย จะขึ้นกับมุมมองนโยบายดอกเบี้ยของสหรัฐ ซึ่งก็ยอมรับว่าเฟดยังเสียงแตกอยู่ แต่หากมีความชัดเจนเกี่ยวกับดอกเบี้ยสหรัฐ เชื่อว่าเงินทุนของต่างชาติที่แห่กันไหลเข้าไปสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำอย่างตลาดการเงินเพื่อรับผลตอบแทนในระดับ 5% โดยไม่ต้องรับความเสี่ยง ก็จะไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้น ซึ่งตลาดหุ้นที่ underperform คือ ตลาดหุ้นใน Emerging Market อาทิ จีน และไทย เชื่อว่าจะเป็นที่หมายตาของต่างชาติ ส่วนแรงขายของนักลงทุนต่างชาติคาดว่าปัจจุบันไม่น่าจะมากแล้ว

“วันนี้ตลาดหุ้นไทยดูเหมือนพร้อมทุกอย่าง ถ้าเป็นไปตามที่พูดไว้ ก็จะเป็นโอกาสที่จะเงิน Fund Flow ไหลกลับเข้ามาแน่นอน ถึงแม้จะเป็น Flow ระยะสั้น อาจเริ่มกระตุ้นก่อน แล้ว Flow ระยะยาวก็จะตามมา ผมคิดว่า Turning Point สำคัญก็อยู่จุดที่เห็นพ้องต้องกันแล้วว่า ดอกเบี้ยสหรัฐพีคแล้ว ซึ่งก็รอดูในเดือนธันวาคม อันนี้สำคัญ เพราะตลาดหุ้นชอบที่สุดที่จะเห็นดอกเบี้ยขาลงของเฟด แต่จะได้เห็นเมื่อไร ก็คงต้องรอต้นปีหน้า”

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเผชิญปัจจัยลบมากมายทั้งภายนอกและภายใน ทำให้ช่วงที่ผ่านมาดัชนี SET ติดลบไปถึง 15% มากที่สุดในอาเซียน วิกฤตศรัทธาตลาดหุ้นไทยรอบนี้ เพราะไม่มั่นใจในตัวนโยบายรัฐบาลที่ก่อนหน้านี้ยังไม่ชัดเจนเพียงพอต่อความต้องการของนักลงทุน แต่ระยะหลังมานี้รัฐบาลก็เริ่มปรับตัวเปิดรับฟังความเห็นหลายฝ่ายมากขึ้น รวมไปถึงความไม่มั่นใจในตลาดหุ้นหลังเกิดกรณีหุ้น บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) และหุ้น บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) รวมถึงหุ้น IPO ที่ไม่ Perform อีกทั้งแรงขายของนักลงทุนต่างชาติที่มีมาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในปี 67 คาดว่าจะดีขึ้นจากปีนี้ โดยภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาดีเต็มที่ตลอดทั้งปี การส่งออกเริ่มกระเตื้องขึ้น รัฐบาลเริ่มทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และจะมีเม็ดเงินงบประมาณออกมามากขึ้นในปี 67 ขณะที่คาดว่าบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในปี 67 กำไรต่อหุ้น (EPS) จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ขณะที่เศรษฐกิจของจีนน่าจะทรงตัวหรือดีขึ้นในปีหน้าเช่นกัน โดยคาดว่าจะเห็นจีนเริ่มออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง

“SET ปีนี้แย่ที่สุดในโลก แต่มองไปข้างหน้าเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนตลาดหุ้นต่างประเทศปีหน้าเข้าสู่ภาวะไม่ได้แย่ แต่จะดีขนาดไหนขึ้นกับพื้นฐานแต่ละประเทศ ถ้าหยุดดอกเบี้ยก็จะช่วยตลาดหุ้นดีขึ้น”

นายไพบูลย์ กล่าวว่า รอบนี้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงมาก ชัดเจนว่าขาดเงินลงทุนระยะยาว และเม็ดเงินจำนวนมากไหลเข้ากองทุน Money Market เพื่อลดความเสี่ยงตลาดขาลง อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นแรงซื้อกองทุนหุ้น Emerging Markets ทยอยกลับมา ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับตลาดหุ้นเอเชีย รวมทั้งตลาดหุ้นไทยในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ มูลค่าเหมาะสม (Fair Value) ของ SET Index ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า ประเมินด้วยวิธี Bottom-up Approach สูงกว่าระดับดัชนีในปัจจุบันราว 15% โดย SET Index อยู่ที่ 1,623 จุด ส่วน SET50 Index อยู่ที่ 1,005 จุด

Fund Flow กำลังจ่อไหลเข้าไทย

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) คาดว่าเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศ กำลังเคลื่อนย้ายเข้าสู่ประเทศไทย และเอเชีย ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางของโลก โดยเฉพาะอาเซียน ที่มีเงินลงทุนโดยตรง (FDI) ไหลเข้ามาภูมิภาค เฟดใกล้จะยุติวงจรการปรับขึ้นดอกเบี้ย ประเทศต่างๆ ก็ทยอยปรับลดดอกเบี้ย เพราะเงินเฟ้อเริ่มชะลอลง ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่อาจจะแค่แผ่วและลงไม่ลึก แต่การเติบโตจะชะลอตัว ส่วนสหรัฐฯมองว่าเป็น Soft Landing ทั้งนี้เห็นว่าเรื่องเศรษฐกิจโลกถดถอย และผลประกอบการ บจ.ไม่ดี ได้ Price in ไปมากแล้ว

ส่วนจีน ก็มีความท้าทายในปีหน้าที่ยังมีวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ แต่คาดว่าอย่างน้อย 1 ปีข้างหน้าจีนน่าจะมีวิธีจัดการกับเรื่องนี้ได้ โดยเศรษฐกิจจีนเชื่อว่ายังมีการเติบโต แม้ว่าอาจจะโตไม่มาก แต่รัฐบาลจีนก็ยังไม่ได้ใช้เครื่องมืออย่างเต็มที่ โดยเฉพาะยังไม่ได้ลดดอกเบี้ย ค่าเงินหยวนก็ยังอ่อนค่าได้อีก ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจ จีนก็ยังมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมาก ขณะที่ บจ.ไทยในปีนี้และปีหน้า ประคองตัวให้ดี โอกาสกำลังเปิด หากผ่านวิกฤตไปได้ก็จะดีขึ้นแน่นอน

นายกอบศักดิ์ มองว่า 3 ปัจจัยชี้ทิศทางตลาดหุ้นในปีหน้า ได้แก่ สงครามในอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ว่าจะยืดเยื้อไปถึงไหน เศรษฐกิจจีนจะแก้ปัญหาอย่างไร และการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งปัจจัยนี้จะช่วยหนุนตลาดหุ้นได้พอสมควร

 

ตลท.ชี้ทุนต่างชาติระยะยาวยังอยู่ SET

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ปีนี้ตลาดหุ้นไทยมีความท้าทายค่อนข้างมาก ส่งผลให้ผลตอบแทนแย่สุดในเอเชีย อย่างไรก็ตาม การปรับตัวลงของดัชนีเป็นเฉพาะบางกลุ่มอุตสาหกรรม ยังมีกลุ่มที่ Outperform อาทิ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มธนาคาร และหุ้นปันผลสูง ขณะที่กลุ่มการผลิต กลุ่มเกษตร การบริโภคในประเทศ ฟื้นตัวไม่ค่อยดีนัก และในปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออก

กรณีหุ้น บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) และ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ที่กระทบกับความเชื่อมั่นในตลาดทุน ซึ่ง ตลท.ได้ดำเนินการแก้ไข ปรับปรุงวิธีการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่กำกับดูแล ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตตลาดทุนไทยจะแข็งแรงขึ้นและสามารถแก้ไขปัญหาลักษณะดังกล่าวได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ ปีนี้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยไปแล้วประมาณ 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐจนถึงวันนี้ แต่มูลค่าและสัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติยังคงใกล้เคียงระดับเดิม โดยเดือน ต.ค.66 มีเงินลงทุน 4.94 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 29.22% เทียบกับ พ.ย.65 ที่มีเงินลงทุน 5.75 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 29.05% สะท้อนว่านักลงทุนต่างชาติที่ไหลออกเป็นกลุ่มระยะสั้น ซึ่งนักลงทุนระยะยาว กลุ่ม Passive Fund สัดส่วนยังค่อนข้างคงที่ โดยปีที่แล้วนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยราว 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ตลาดหุ้นไทยมีมูลค่าระดมทุน IPO อยู่ในอันดับต้นๆ ของเอเชียและตลาดโลก และคาดว่าปีนี้และปีหน้าจะมี IPO เข้ามาระดมทุนในตลาดทุนไทยเพิ่มขึ้น แต่สภาวะตลาดในปัจจุบันที่เผชิญกับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น สภาพคล่องลดลง รวมทั้งนักลงทุนต่างชาติลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงน้อยลง ส่งผลกระทบต่อการระดมทุน IPO ลดลงจากปีที่แล้ว ซึ่ง ตลท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการแก้ไข โดยขณะนี้ได้มุ่งเน้นไปที่การให้ข้อมูลของ IPO ให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามบริษัทจดทะเบียนของไทยได้ขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคต่าง ๆ และมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 64 สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ 40% และส่วนใหญ่เป็นรายได้ที่มาจากเอเชีย ยุโรป อเมริกา ตามลำดับ

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของประเทศและคาดว่าจะฟื้นตัวได้ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะการผลิตเมนูเนื้อจากพืช (Plant-Based Meat) อาหารที่ช่วยรักษาโรค (Nutraceuticals Food) และอาหารชีวภาพ (Molecular Biology) โดยธุรกิจดังกล่าวเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับธุรกิจเดิม ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนค่อนข้างสูงเทียบบริษัทอื่นๆในอุตสาหกรรม ขณะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เริ่มฟื้นตัวและการท่องเที่ยวในไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหลังโควิด ทั้งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กลุ่มที่ท่องเที่ยวไปพร้อมกับการทำงาน กลุ่มท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวและกลุ่มท่องเที่ยวแบบ Soft Power ท่องเที่ยวตามสถานที่ในภาพยนตร์

ขณะที่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ โดยจุดแข็งของประเทศไทยคือการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน แต่ตอนนี้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนโดยการเสริมผลิตภัณฑ์ EV โดยใช้ Supply Chain ของรถยนต์สันดาปมากขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 พ.ย. 66)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top